วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
Wat Khao Takrao, Bang Khrok Subdistrict, Ban Laem District, Phetchaburi
“วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ “หลวงพ่อทอง”  ชมตลาดน้ำวัดเขาตะเครา”

ที่ตั้งวัดเขาตะเครา

  • ที่ตั้ง : ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
  • ติดตาม : facebook.com/watkhaotakhraopetburi
  • โทรศัพท์ : 032424300, 032409157, 032409277
  • เปิดทำการทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น.
  • ตลาดน้ำเปิดทำการ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00 – 17.00 น.

ประวัติวัดเขาตะเครา วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อสร้างมาช้านาน ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสมัยใด แต่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏในบทประพันธ์ “เพลงยาวหม่อมภิมเสน” ในสมัยอยุธยา คือ

“ข้ามท้องสาครชะเลมา
ก็ลุถึงปากน้ำบางตะเครา
ยิ่งแลเห็นเปล่าเคร้าใจใฝ่หา
จรดลตามชลมารคมา

หมายตามณฑปวัดเขาดิน
เห็นเหมือนมณฑปวัดศพสวรรค์
ยิ่งร้อนรัญจวนนักหนักถวิน
ที่แล่นสูงล้วนฝูงกุมภินฯ”

(สมัยอยุธยา เรียกวัดเขาตะเคราว่า วัดเขาดิน) จากบทประพันธ์นี้พอเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สันนิษฐานได้ว่า วัดเขาตะเคราเป็นวัดเก่าแก่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณทั้งนี้เพราะมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งที่คนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเคราหรือหลวงปู่ทองวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ดังจะเห็นจากนิราศเมืองเพชรของมหากวีเอก สุนทรภู่ของไทยที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“ครู่หนึ่งถึงเขาเคราสวาท
มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบเขตที่บริเวณ
พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ

กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
ขึ้นไปไหว้พระสำฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลือมาแต่บุราณ
ใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อนฯ”

สุนทรภู่ประพันธ์บทนิราศเมืองเพชรไว้เมื่อ พ.ศ. 2375 เป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าหลวงพ่อวัดเขาตะเคราหรือหลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีชาวบ้านเคารพนับถือมาช้านานแล้ว สุนทรภู่คงทราบกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ผ่านมาจึงแวะขึ้นมนัสการ

นอกจากนี้ยังหลักฐานจารึกเป็นภาษาจีนติดแผ่นป้ายอยู่ที่วัดเขาตะเคราปัจจุบันนี้อีก 5 แผ่นซึ่งแผ่นหนึ่งแปลได้ความว่า ช่วยบำบัดทุกข์ ประชาชน อีกแผ่นหนึ่งแปลว่า ลูกศิษย์หลวงพ่อชื่อ เฮงเจี๊ยมชัว เป็นผู้ถวาย อีกแผ่นหนึ่งบอกถึงบ้านเกิดของลูกศิษย์คนนั้นอยู่ที่ ไคง้วนเลี้ยงไผ่ขงจั้ว เหล้านี้นับเป็นหลักฐานยืนยันอีกประการหนึ่งถึงความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้

หลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว มีประวัติว่าหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์ คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้เริ่มปลายสมัยอยุธยา ขณะที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง ซึ่งได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้ วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม ปัจจุบันนี้คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

อุโบสถวัดเขาตะเครา ด้านข้างของอุโบสถ มีบันไดนาคขึ้นไปได้ถึงลานประทักษินรอบพระอุโบสถเหมือนกับด้านหน้า 2 ข้างของบันไดนาค มีศาลาแม่ชีและแม่พราหมณ์อยู่ข้างละหลัง หลวงพ่อปู่หมอ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารบนยอดเขาตะเคราสร้างจำลองแบบหลวงพ่อทองเขาตะเครา หน้าตักกว้าง 60 นิ้ว สูง 77 นิ้ว ปั๊นด้วยปูนขาวผสมน้ำอ้อยและหนัง ตามประวัติเข้าใจว่าข้าวผสมน้ำอ้อยและหนัง เมื่อชาวบ้านแหลมได้นำพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งมพบทีแม่กลองประดิษฐานที่วิหารบนยอดเขาตะเคราก่อนทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการนมัสการเมื่อผ่านไปมาระหว่างแม่กลองกับบ้านแหลมถิ่นกำเนิดของตน เพราะสมัยก่อนนี้ทะเลกับวัดเขาตะเคราห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ เมื่อผ่านทางทะเลย่อมเห็นเขาตะเคราชัดเจนไม่ต้องแวะขึ้นมานมัสการ เพียงแต่ผ่านทางทะเลก็นมัสการได้ ต่อมาชายฝั่งทะเลได้งอกออกไปไกลผู้ที่มานมัสการจะขึ้นเขาไปนมัสการก็ลำบาก (สมัยก่อนไม่มีรถรางไฟฟ้าหรือบันไดขึ้นลงเหมือนปัจจุบัน) มีแต่ทางเดินคดเคี้ยวขึ้นลง ยิ่งเป็นผู้สูงอายุยิ่งลำบากมาก

ผู้มีความรับผิดชอบในสมัยนั้นจึงย้ายท่านมาประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถเชิงเขา เป็นพระประธานองค์ที่ ๒ รองจากหลวงพ่อเทวฤทธิ์ เมื่ออาราธนาหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเคราลงมาแล้วจะได้สร้างองค์จำลองรูปหลวงพ่อทองวัดเขาตะเคราแต่องค์ใหญ่กว่า เพื่อมิให้วิหารว่างเปล่า เข้าใจว่าสร้างมานานร่วม ๒๐๐ กว่าปี ในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่เจริญ การคมนาคมยังไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน ประชาชนในสมัยนั้นจึงต้องพึ่งพาตนเอง เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็พากันมาเก็บสมุนไพรบนเขาและถือวาเป็นยาของหลวงพ่อ ก็อธิษฐานบนบานก่อนจะนำไปรับประทานเมือรับประทานแล้วก็หายได้ผลตามคำอธิษฐาน จึ่งนิยมเรียก หลวงพ่อหมอ

พระมหาเจดีย์ วัดเขาตะเครา ประวัติพระมหาเจดีย์ วัดเขาตะเครา พุทธศักราช 2544 ปีมะเมีย เดือน 12 วันอาทิตย์ สมัยท่านเจ้าอาวาส พระครูวชิรกิจโสภณ(พระมงคลวชิราจารย์) ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (องค์ที่ 19) แห่งราชวงศ์จักรี ประทานพระบรมสารีริกธาตุแก่วัดเขาตะเคราเพื่อบรรจุในมหาเจดีย์นี้ ฤา มหาชนจักได้รู้จักพระมหาเจดียองค์ใหญ่นี้บรรจุไว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก พระธาตุสีวลีและพระธาตุพระอรหันต์ประจำทิศทั้ง 8 (อัญเชิญจากเมืองฝาง) ผู้เป็นอสีติมหาสาวก ดังและครั้งพุทธกาลนานมาพระตถาคตเจ้าทรงแต่งตั้งพระมหาสาวกผู้บำเพ็ญบารมีนานแสนกัล์ป ผู้เป็นเลิศในแต่ละด้าน จาริกเผยแพร่พระศาสนาไปทั่วทิศทั้ง 8

พลับพลาจตุรมุข หรือเป็นวิหารงานประจำปีวัดเขาตะเครา วิหารหลวงพ่อทองหลังนี้มีความสวยงามอย่างยิ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานหลวงพ่อทอง (จำลอง) ในงานประจำปีของวัดเขาตะเครา นอกจากช่วงนั้นแล้วหลวงพ่อทองจะประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถตามปกติ และวิหารหลังนี้ก็จะปิดด้วยกำแพงรอบด้านอย่างที่เห็นครับ พลับพลาทรงจตุรมุขหลังนี้ได้จำลองมาจากพระที่นั่งทิพย์อาสนไอยสวรรค์ (พระราชวังบางปะอิน) สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยโดยช่างฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภาพบรรยากาศวัดเขาตะเครา

การเดินทางมาวัดเขาตะเครา เพชรบุรี

Comments

comments