วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก
Wat Nang Phaya, Phitsanulok

“สักการะบูชาพระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว พระประธานในพระอุโบสถ
วัดเก่าแก่วัดต้นตระกูลของพระเครื่องสมเด็จนางพญาหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระเครื่อง”


วัดนางพญา

ที่ตั้งวัดนางพญา ตรงข้ามวัดใหญ๋
ถนนจ่าการบุญ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
วันเวลาเปิดทำการ ทุกวัน เวลา 7.00 – 17.00 น.

ประวัติวัดวัดนางพญา
วัดนางพญา สันนิษฐานว่า ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090 – 2100

ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง และพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว และพระมหาธรรมราชาทรงพระอิสริยยศที่ พระอุปราช แห่งแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ กรุงศรีอยุธยา พื้นที่ติดกับวัด พระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) โดยมีถนนจ่าการบุญคั่นกลาง นอกจากนั้นอยู่ติดกับวัดราชบูรณะ แต่ปัจจุบันถนนสายมิตรภาพตัดผ่าน ทำให้วัดนางพญากับวัดราชบูรณะ ตั้งอยู่คนละฝั่งถนน ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 27 กันยายน 2479 เฉพาะวิหาร ปัจจุบันเป็นอุโบสถ และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบ 2 องค์

วัดนางพญา เดิมไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า พระนางพญา ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระนางพญาเป็นสุดยอดพระ หนึ่งในชุดเบญจภาคี พระเครื่องนางพญามีชื่อเสียงทางด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่เป็นนักปกครองและหัวหน้างาน ต้องดูแลลูกน้องจำนวนมาก โดยจะมีความเชื่อว่าจะทำให้ผู้ใต้ปกครองยำเกรงประดุจ “นางพญา” ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีก็แต่ที่ได้สร้างจำลองขึ้นภายหลัง มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497

พระประธานในพระอุโบสถเรียก พระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว นอกจากนี้มีพระเครื่องพิมพ์นางพญา เป็นต้นตระกูลในสมัยนั้น ๓ ขนาด และมีเจดีย์เก่า ๒ องค์ มีมาคู่กับวิหารวัดนางพญา สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๐ เป็นที่ทราบกันว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ท่านสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ์พระนางวิสุทธิกษัตริย์ พระราชชนนีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ไทย

วัดนี้เป็นวัดต้นตระกูลของพระเครื่องสมเด็จนางพญา แต่เดิมนั้นยังไม่มีอุโบสถ แต่มีวิหารสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว ต่อมาวิหารชำรุดทรุดโทรม ทางวัดจึงได้ทำการบูรณะของเก่าทำให้เป็นอุโบสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันพระราชทานพระฤกษ์การสร้างอุโบสถ ณ วันพุธที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖ เกี่ยวกับการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๐๕

พระพิมพ์นางพญา ได้ถูกบรรจุไว้บนหอระฆังของเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลงมา พระนางพญาจึงตกลงมาปะปนกับซากเจดีย์ และกระจายทั่วไปในบริเวณวัด ได้มีการพบกรุพระนางพญาครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และให้บรรดาข้าราชบริพาร ครั้งหลังเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อมีการขุดหลุมหลบภัยจึงไปพบพระนางพญาเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด พระพิมพ์นางพญา เป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัย องค์พระอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีเหลี่ยมรอยตัดด้วยเส้นตอกตัดเรียบร้อย สวยงามปราณีต เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาเนื้อแกร่ง และเนื้อหยาบ เนื้อมีส่วนผสมของดินว่านต่างๆ แร่ธาตุ กรวดและทราย เนื้อที่มีสีเขียวและสีดำจะมีความแกร่งมากกว่าสีอื่น เนื่องจากถูกเผาด้วยอุณหภูมิสูง สีโดยทั่วไปจะเป็นสีแดงคล้ำน้ำตาลแก่ เขียวตะไคร่แกมดำสีเม็ดพิกุลแห้ง สีกระเบื้อง หรือสีหม้อไหม้ สีสวาทหรือสีเทา และสีแดงคล้ำมีควาบกรุ ที่เรียกว่าเนื้อมันปู และสีขาวอมชมพู

“พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง”

ลักษณะของพระนางพญา พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อหยาบ ที่ละเอียดอ่อนจะมีน้อยกว่ามาก มีทั้งหมด 7 พิมพ์ด้วยกัน คือ 1. พิมพ์เข่าโค้ง ถือเป็นพิมพ์ใหญ่พิมพ์หนึ่ง 2. พิมพ์เข่าตรง ถือเป็นพิมพ์ใหญ่ โดยเฉพาะพิมพ์เข่าตรง แยกออกเป็น 2 พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์เข่าตรง “ธรรมดา” กับพิมพ์เข่าตรง “มือตกเข่า” แต่ทั้งสองพิมพ์ถือว่าอยู่ในความนิยมเหมือนกันทั้งคู่ 3. พิมพ์อกนูนใหญ่ ถือเป็นพิมพ์ใหญ่ 4. พิมพ์สังฆาฏิ ถือเป็นพิมพ์กลาง 5. พิมพ์อกแฟบ (หรือพิมพ์เทวดา) ถือเป็นพิมพ์เล็ก 6. พิมพ์อกนูนเล็ก ถือเป็นพิมพ์เล็ก 7.พิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วง หรือพิมพ์ใหญ่พิเศษ

ภาพบรรยากาศวัดนางพญา

การเดินทางมาวัดนางพญา พิษณุโลก

Comments

comments