วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
Wat Phra Sri Mahathat Woramahawihan, Anusawari Subdistrict, Bang Khen District, Bangkok.
“สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุในพระมหาเจดีย์ ไหว้พระศรีสัมพุทธมุนี พระพุทธมงคลมุจลินท์ ทำบุญพระประจำวัน ถวายสังฆทาน ชมต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดีย ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ให้ทานอาหารปลา”
ที่ตั้งวัด
เลขที่ 149 แขวงอนุสาวรีย์ ถ.พหลโยธิน อนุสาวรีย์ บางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
เบอร์โทรติดต่อ 0 2986 0832, 0 2521 2992
ประวัติวัด
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2484 และเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2485 สร้างในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้มีการตั้งนามวัดว่า วัดพระศรีมหาธาตุ และถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485


วัดพระศรีมหาธาตุ มีถาวรวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจดีย์ศรีมหาธาตุซึ่งภายในมีเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและที่ผนังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนเห็นสมควร และยังมีพระศรีสัมพุทธมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัยซึ่งเดิมประดิษฐานที่วังหน้า



พระอุโบสถเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้เป็นวิหารคตล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นศาลาการเปรียญ ตรงหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งพระมหาเจดีย์ สูง 38 เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ



เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศ และบรรดาศักดิ์ เป็นพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ 24 มิถุนายน 2484 สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยท่านมีเหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 และประสงค์จะให้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย”
ในขณะที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น เกิดศุภนิมิตรอันประเสริฐโดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะทูตพิเศษ อันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็นนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) คณะทูตได้ติดต่อขอดังนี้
- พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่เดิม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย
- ขอดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ จากที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนานั้นมีมาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ แต่มีประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ (พ.ศ. 2484) ที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นประเทศเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก “ประเทศนั้นคือ” ประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงพิจารณามอบให้ คือ
- พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
- มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ 5 กิ่ง
- และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้ตามความประสงค์

รัฐบาลไทยจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงตกลงตั้งนามวัดว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ”



การเดินทางไปยังวัดพระศรีมหาธาตุ เริ่มต้นจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวให้วิ่งมาตามถนนพหลโยธินมุ่งหน้ารังสิต วัดจะอยู่ก่อนถึงวงเวียนหลักสี่ มีรถประจำทางสาย 26, 34, 39, 59, 114, 126, 503, 512, 524 ผ่าน
แผนที่ไปวัดพระศรีมหาธาตุ