วัดน้อยนอก ต.บางกระสอ อ.เมือง นนทบุรี

Wat Noi Nok, Bang Kraso Subdistrict, Mueang District, Nonthaburi

“วัดโบราณสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พระอุโบสถเก่าแก่ ชมศิลปกรรมปูนปั้นนูนต่ำพระพุทธประวัติประดับกำแพง และสถานที่เผาสัตว์เลี้ยง”

ที่ตั้งวัดน้อยนอก
ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
Facebook วัดน้อยนอก จ.นนทบุรี

ประวัติวัดน้อยนอก
วัดน้อยนอก เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ) ก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดย ขุนศรีมงคลและเหล่าทหารที่ติดตาม แห่งกรุงศรีอยุธยา

ตามประวัติที่ได้ขุดค้นพบแผ่นจารึกที่ทำด้วยทองแดง กล่าวว่า หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่สอง เหล่าแม่ทัพและทหารหาญที่มิยอมตกเป็นเชลยศึกของพม่า ได้พากันตีแหกฝ่าวงล้อมหมายที่จะออกมาตั้งหลักรวบรวมไพร่พลเพื่อกลับเข้ากู้กรุงศรีอยุธยาในภายหน้า หนึ่งในกลุ่มแม่ทัพและทหารที่ติดตามคือ ขุนศรีมงคล ได้พาเหล่าทหารตีฝ่าวงล้อมข้าศึก มุ่งหน้ามายังทิศใต้ แต่ถูกแม่ทัพและทหารพม่าไล่ติดตามหมายปลิดชีพ ในขณะนั้นขุนศรีมงคล และเหล่าทหารที่ติดตาม ได้หนีการตามล่ามาจนถึงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นคุ้งน้ำกว้างใหญ่ขวางอยู่เบื้องหน้า จึงไม่สามารถที่จะพาเหล่าทหารที่ติดตามข้ามหนีไปได้อีกแล้ว ขุนศรีมงคลจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า…

“หากเราและเหล่าทหารที่ติดตามมานี้รอดพ้นจากการติดตามของพม่ารามัญแล้วไซร้ จักสร้างวัดเพื่อเป็นพุทธสถาน ให้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาสืบไป ”

จากนั้นขุนศรีมงคลจึงนำเหล่าทหารที่ติดตามไปซ่อนตัวอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์ริมปากคลอง (คลองบางกระสอในปัจจุบัน) เมื่อแม่ทัพและทหารพม่าตามมาถึงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณต้นโพธิ์ที่ขุนศรีมงคลและทหารที่ติดตามซ่อนตัวอยู่ กลับมองไม่เห็น ขุนศรีมงคลและเหล่าทหารที่นั่งเข้าสมาธิอย่างสงบใต้ต้นโพธิ์นั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ แม่ทัพพม่าผู้นั้นเป็นยิ่งนัก หลังจากที่ค้นหาโดยทั่วบริเวณแล้วไม่พบเป็นแน่แท้ จึงย้อนกลับเข้า กรุงศรีอยุธยา

เมื่อขุนศรีมงคลและเหล่าทหารที่ติดตามเห็นว่า พวกพม่าได้ย้อนกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา ไปหมดแล้วจึงออกมาจากใต้ต้นโพธิ์ที่หลบซ่อนอยู่ หลังจากนั้นไม่นาน พระยาตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ได้เข้าขับไล่เหล่าทหารรามัญและยึดกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ แต่ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ยากที่จะฟื้นฟูกลับมาเป็นราชธานีได้ จึงย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรีและ สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ ในแผ่นดินสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ขุนศรีมงคลได้นำเหล่าทหารที่ติดตาม และชาวบ้านผู้ที่มีจิตศรัทธา ที่อาศัยในถิ่นแถบใกล้เคียงช่วยกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา ดั่งสัตยาธิษฐานที่ขุนศรีมงคลชัยได้ให้ไว้เป็นมั่นจนสำเร็จ

ในช่วงที่สร้างวัด ขุนศรีมงคลและเหล่าทหารที่ติดตาม ได้ตั้งหลักปักฐาน สร้างครอบครัวของแต่ละคนขึ้น ขุนศรีมงคลได้สร้างครอบครัวและมีบุตรสาวหนึ่งคน ชื่อว่าคุณหญิงน้อย (มารดาของคุณหญิงน้อย มิได้ปรากฏหลักฐานไว้ บนแผ่นศิลาจารึก) เมื่อสร้างวัดแล้วเสร็จขุนศรีมงคลจึงถวายนามวัดนี้ว่า “วัดน้อย” ดั่งเช่นชื่อบุตรสาวของท่านเพื่อเป็นอนุสรณ์สืบไป (ปัจจุบันมีการเติมคำว่า “นอก” เข้าไปเพื่อให้คล้องกับ วัดน้อยใน )

ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2484-2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้วัดน้อยจมอยู่ในน้ำที่สูงถึงครึ่ง พระอุโบสถเป็นเวลานานกว่า ๑ ปี และน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 เนื่องจากเป็นวัดที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมจนแทบไม่มีพระภิกษุจำพรรษา


จนประมาณปี พ.ศ. 2521-2523 ได้มีการรวบรวมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันบูรณะพร้อมกับสร้างวิหารและพระพุทธราษฎร์สโมสรเพื่อประดิษฐานที่วิหารในคราวเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองทางผู้ที่เกี่ยวข้องในงานมหากุศลครั้งกระนั้น ได้นำเอาแผ่นทองแดงที่จารึกประวัติการสร้างวัดน้อยนอก ซึ่งถูกเก็บรักษามาช้านานนำมาหลอมรวมเป็นโลหะเทผสมเพื่อสร้างพระพุทธราษฎร์สโมสร จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การสร้างวัดน้อยนอก ได้มีผู้ที่รู้และพบเห็นทองแดงจารึกเป็นครั้งสุดท้ายเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังเคยมีบ่อน้ำที่ใช้ล้างดาบของเพชรฆาต ที่ใช้ตัดศรีษะของนักโทษและเชลยศึก (บ่อน้ำอยู่ข้างต้นโพธิ์ปัจจุบันถูกถมเป็นลานวัดไปแล้ว ) เมื่อครั้งพม่าเตรียมเข้าตีกรุงศรีอยุธยาจะมาตั้งค่ายที่บริเวณบ้านตลาดขวัญ ( ปัจจุบันบ้านตลาดขวัญยังคงมีอยู่บริเวณข้าง โรงเรียนศรีบุณยานนท์ซึ่งบริเวณดังกล่าวเคยขุดพบอาวุธโบราณและโครงกระดูกของมนุษย์โบราณจำนวนหนึ่ง )

พระอุโบสถ

นอกจาก พระอุโบสถที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะสมัยอยุธยาแล้วยังมีเจดีย์เล็กๆ ทรงเดียวกันกับพระปรางค์วัดราชบูรณะในอยุธยาอีกด้วย (ปัจจุบันพังทลายสูญหายไปแล้ว ) ภายในเพดานโบสถ์ ฐานพระประธานและเจดีย์นี้เอง ได้มีการลักลอบขุดหาของมีค่าและพระพิมพ์ต่างๆ ที่บรรจุไว้จนหมดสิ้นรวมทั้งดวงพระเนตรของพระประธานในพระอุโบสถก็ถูกขโมยควักเอาไปด้วย (ดวงพระเนตรเป็นนิลสีดำสนิท) เหลือเพียงพระพุทธรูปศิลาและพระพุทธรูปโลหะศิลปะอยุธยาไม่กี่องค์ (ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในวิหารและกุฏิเจ้าอาวาส พระพิมพ์ที่ถูกลักลอบขุดและขโมยออกมามีไม่มากนัก ) ได้แก่ พระนางพญาพิษณุโลก พระกริ่งคลองตะเคียน รวมทั้ง พระเนื้อชินเงินที่ติดอยู่บนแผงไม้สักโบราณ โดยแผงไม้สักนี้จะถูกแกะเป็นช่องให้พอดีกับองค์พระ จากนั้นจึงนำพระมาแปะติดไว้ในช่องที่แกะ แผ่นไม้สักโบราณนี้ ไม่มีพระพิมพ์หลงเหลืออยู่เลยแม้แต่องค์เดียว

หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นถึงศิลปะร่วมสมัยอยุธยา ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ ที่มีพระพักตร์แป้นกลม พระโอษฐ์บางเป็นเส้น เม็ดพระศกคล้ายหนามขนุน มีเส้นผ้าประคตเอว ปลายนิ้วมือยาวเสมอกันทั้งสี่นิ้ว และฐานพระอุโบสถเป็นแนวโค้ง เรียกว่า “ฐานสำเภา”ปัจจุบันพระอุโบสถมีความทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผนังและฐานราก รวมทั้งโครงไม้จันทัน แป หน้ามุข และหน้าบัน ที่รอวันจะพังทลายลงมา จนกระทั่งพระมหานพดล อาสโภ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้รับตราตั้ง มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังนี้อยู่


ภายในบริเวณวัดยังมี ฌาปนกิจ เผาสัตว์เลี้ยง สุนัข แมว Pet Funeral Thailand เปิดให้บริการสำหรับคนที่รักสัตว์เลี้ยง


 ภาพบรรยากาศวัดน้อยนอก








 

Comments

comments