วัดสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
Wat Sakhla, Na Kluea Subdistrict, Phra Samut Chedi District, Samut Prakan
“ลอดโบสถ์ ลอดวิหาร ลอดใต้ฐานหลวงพ่อโต เพื่อความเป็นสิริมงคล, ชมพระปรางค์เอียงคู่เมืองปากน้ำ”

ที่ตั้งวัดสาขลา
เลขที่ 19 ถนนสุขสวัสดิ์- วัดสาขลา หมู่ 3 บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
เบอร์โทรติดต่อ 085-907-1431, 082-551-5197

ประวัติวัดสาขลา

วัดสาขลา มีพื้นที่ 27 ไร่ 2 งาน ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ส้นนิษฐานว่าสร้างในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือในปี พ.ศ.2325 ครั้งที่ชาวบ้านช่วยกันขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว ภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.2375

บ้านสาขลา เดิมมีชื่อว่า บ้านสาวกล้า เป็นชื่อตามคำบอกเล่าว่า ในสมัยสงครามเก้าทัพ* ผู้ชายในหมู่บ้านได้ถูกเกณฑ์ไปรบกันหมด เหลือเพียงผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุอยู่ภายในหมู่บ้าน ขณะนั้นเอง ได้มีพม่าลาดตระเวนมาเจอหมู่บ้าน ผู้หญิงที่อยู่เฝ้าหมู่บ้านจึงพากันจับอาวุธเท่าที่หาได้ในครัว เช่น สากตำข้าว มีดพร้าในครัว ขับไล่พม่าไปจนได้ หลังจากเหตุการณ์นั้น หมู่บ้านนี้จึงถูกเรียกขานว่า หมู่บ้านสาวกล้า ต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนไป จนเป็นคำว่า บ้านสาขลา ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเข้มแข็ง และยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ทำการประมง เพาะเลี้ยงกุ้งหอยปูปลา และใช้ลำคลองในการเดินทาง

วัดสาขลา Wat Sa Khla

พระปรางค์เอน เป็นองค์พระปรางค์เก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณริมคลอง แต่เดิมตอนสร้างนั้นสร้างทรงตรง ไม่ได้เอนอย่างปัจจุบัน กระทั่งเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ได้เกิดน้ำท่วมขัง ผืนดินที่ลอยตัวอยู่บนโคลนเกิดการทรุดตัว องค์พระปรางค์จึงได้เอียงไปทิศตะวันตก ประมาณ 15 องศา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เอียงเพิ่ม และไม่มีทีท่าว่าจะล้มลงมา จึงได้ปล่อยให้เอนจนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบ้านสาขลา

พื้นที่โดยรอบพระปรางค์ ได้มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบขึ้นใหม่ กั้นกำแพงแก้วเป็นแนวสี่เหลี่ยมจตุรัสไว้โดยรอบ ตรงกลางเป็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่ มุมทั้ง 4 ของกำแพงแก้วประดับด้วยปรางค์ประจำทิศทั้ง 4 มีขนาดย่อมลงมา แต่ละด้านของกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเดิม เป็นทางเข้าสู่ลานประทักษิณารอบองค์พระปรางค์

ปรางค์ประธานมีลักษณะเป็นทรงฝักข้าวโพด ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนกลางของพระปรางค์ ทำเป็นซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรไว้ทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันแตกหักไป เหลือให้เห็นบนพระปรางค์เพียง 2 ด้าน

เมื่อปี พ.ศ.2556 ชาวบ้านสาขลาได้มีการฟื้นฟู สืบทอดงานประเพณีการห่มผ้าพระปรางค์ โดยมีการแห่ผ้าแดงไปรอบชุมชน พร้อมทำพิธีบวงสรวง เพื่อรวมจิตศรัทธาของคนในชุมชน และเป็นการบูชาองค์พระปรางค์ ได้ร่วมกันทำบุญ ก่อพระเจดีย์ทรายบริเวณวัด และชักผ้าขึ้นห่มพระปรางค์เอียง

ลอดโบสถ์

พิพิธภัณฑ์ใต้อาคารโบสถ์และวิหาร

ใต้อาคารโบสถ์และวิหาร จัดเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ การเข้าชมด้านใน เปรียบเสมือนได้ทำการลอดใต้โบสถ์วิหาร และฐานหลวงพ่อโต เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย ทางเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ทำเป็นซุ้มประตูมีลักษณะเป็นปากราหู ที่เชื่อว่าเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ส่วนทางออกทำเป็นรูปปั้นช้างขนาดใหญ่ เป็นช้างพลายมหาลาภ เวลาออกตรงทางออกจึงเหมือนกับการได้ลอดท้องช้างออกไป เชื่อว่าทำให้โชคดี รอดพ้นอุปสรรคต่างๆ

ลอดโบสถ์1

ในการสักการะหลวงพ่อโต สิ่งสำคัญที่พลาดไม่ได้คือ การลอดโบสถ์ เชื่อกันว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นสิริมงคลกับตัวเอง ซึ่งวัดสาขลาได้ยกโบสถ์ให้สูงขึ้น เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ใต้โบสถ์จึงสามารถลอดไปมาได้ แต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนมาลอดโบสถ์เสมอโดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคล 9 ประการ คือ

  1. มงคลที่ 1 ลอดประตูพระราหู
  2. มงคลที่ 2 ปิดทองลูกนิมิตโบราณ
  3. มงคลที่ 3 บูชาพระบัวเข็ม กราบรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำนวนมาก
  4. มงคลที่ 4 โยนเหรียญทำบุญพระสังกัจจายน์
  5. มงคลที่ 5 บูชาพระพุทธรูปที่ขุดพบ
  6. มงคลที่ 6 พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกขกิริยา
  7. มงคลที่ 7 ปิดทองพระพุทธรูปศิลา
  8. มงคลที่ 8 ปิดทองใต้ฐานองค์หลวงพ่อโต
  9. และมงคลที่ 9 ลอดท้องช้าง พรายมหาลาภ

พื้นที่ด้านในพิพิธภัณฑ์แบ่งซอยออกเป็นห้องต่างๆ มีการจัดแสดงแต่ละส่วนไว้ต่างกัน ได้แก่

ลูกนิมิต

ลูกนิมิต ลูกเอก เป็นลูกนิมิตโบราณ ทำจากศิลาแลง อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี มีลักษณะไม่กลมเกลี้ยงเหมือนกับลูกนิมิตปัจจุบัน ลูกนิมิตนี้ได้นำมาจัดวางไว้ในที่ตรงกับใจกลางพระอุโบสถ ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน จุดนี้สามารถปิดทองลูกนิมิตเพื่อความเป็นมงคลได้

• พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นห้องจัดแสดงส่วนหนึ่งของพุทธประวัติก่อนตรัสรู้ เป็นรูปปั้นพระพุทธเจ้ากำลังบำเพ็ญทุกรกิริยา ร่างกายผ่ายผอม ภาพประกอบมีลักษณะเหมือนฉาก 3 มิติ ผนังทั้งสามด้านวาดเป็นภาพป่า ต้นไม้ มีหมู่ภิกษุสงฆ์ และเทวดารายล้อมอยู่ใกล้ๆ

ลอดโบสถ์5

• พระสองพี่น้อง เป็นห้องจัดแสดงพระสองพี่น้อง พระพุทธรูปที่ขุดพบตอนยกโบสถ์ขึ้น โดยจัดพระสองพี่น้องไว้ในตู้กระจกตรงกลางห้อง ผนังด้านข้างวาดเป็นภาพนูนต่ำ เป็นภาพพื้นที่บริเวณวัดสาขลา ดูแล้วมีมิติเหมือนกับสถานที่จริงที่พบพระทั้งสององค์

พระสองพี่น้องเป็นพระพุทธรูป 2 องค์ ยืนหันหลังพิงกัน องค์หนึ่งเป็นปางประทานพร และอีกองค์เป็นปางห้ามสมุทร บริเวณริมทางเดินมีภาพถ่ายจริงขณะที่ขุดพบแสดงไว้ให้ดูด้วย

ลอดโบสถ์9

• พระพุทธรูปศิลา เป็นห้องบริเวณฐานหลวงพ่อโต จัดแสดงพระพุทธรูปศิลาที่ขุดพบใต้วิหาร ตอนขุดพบนั้น เศียรและตัวหักอยู่ เมื่อนำมาประกอบต่อกัน จึงมีลักษณะดูผิดรูปไป บริเวณนี้ ส่วนเพดานจะมีฐานพระโผล่ออกมา ทางวัดได้เปิดไว้ เพื่อให้ได้ปิดทองใต้ฐานพระเลย

ลอดโบสถ์3

• พระสังกัจจายน์ อยู่ด้านข้างบริเวณทางเดิน สามารถโยนเหรียญให้เข้าไปในสะดือพระได้

ลอดโบสถ์4

• ห้องลอยบัว เป็นห้องที่ดูสงบเย็น เปิดไฟแสงสลัว ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อบัวเข็ม หน้าองค์พระทำเป็นสระบัวกลางห้อง เพื่อลอยบัวขอพร ส่วนบริเวณด้านข้างยกพื้น จัดเป็นล็อกๆ ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งบูรพาจารย์ ขนาดเท่าองค์จริง ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ, ท่านพ่อคล้าย วัดสวนขัน, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อหลิว วัดไร่แตงทอง, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงปู่เสาร์ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์เทพศรีลายลา

• ห้องพิพิธภัณฑ์เทพศรีสาขลา อยู่บริเวณริมด้านข้างรอบนอกอาคาร ภายในห้อง จัดแสดงเทวรูปตามความเชื่อของพราหมณ์ฮินดู และเทพต่างๆเช่น พระตรีมูรติ องค์พระพิฆเนศปางต่างๆ พระอิศวร(พระศิวะ) พญาครุฑ พระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นต้น

พระ

• ห้องพระเกจิอาจารย์ เป็นห้องอยู่บริเวณริมด้านข้างรอบนอกอาคาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ส่วนด้านข้างเป็นตู้โชว์ จัดแสดงรูปปั้นขนาดเล็กของเกจิอาจารย์ต่างๆ มากมาย

วัดสาขลา11

• รูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อยู่บริเวณริมทางเดินด้านนอก มีรูปปั้นเทพเทวดา นางไม้ต่างๆ เช่นเทวดาประจำวันเกิด บรมครูฤาษีชีวโกมาภัจ นางไม้

บ่อน้ำทิพย์

• บ่อน้ำจืด ศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ่อน้ำที่ขุดพบหลวงพ่อสองพี่น้อง อยู่บริเวณด้านหลังของอาคารฐานโบสถ์วิหาร เป็นบ่อเล็กๆ กั้นรั้วสแตนเลสโดยรอบ

ตลาดโบราณวัดสาขลา

ตลาดโบราณ บ้านสาขลา
เปิดวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 17.00 น.

ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ บริเวณวัดสาขลา จะมีชาวบ้านมาขายสินค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านสาขลาที่ขึ้นชื่ออย่าง กุ้งเหยียด อาหารทะเลสด และแห้งอื่นๆ อีกมาก เช่น กะปิ น้ำปลา หอยหวาน หอยแครง อาหารสำเร็จรูปของคาว ของหวาน และสินค้าอื่นๆ อีกมาก


การเดินทางมาวัดสงขลา

การเดินทาง ด้วยรถยนต์ ใช้เส้นทางดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์ จากนั้นจะเจอที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์

ขับตรงไปก็ถึงวัดสาขลา จะมีป้ายบอกทางไปวัดสาขลาตลอดเส้นทาง หรือใช้รถโดยสารมายังท่าเรือข้ามฟากปากน้ำ

จากนั้นนั่งเรือข้ามไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์ จะมีรถสองแถวจอดอยู่ตรงท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์ไปถึงวัดสาขลาเลย

Comments

comments