
วัดโสธรวราราม วรวิหาร (พระอารามหลวง)
Wat Sothon Wararam Worawihan
“สักการะบูชาหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแปดริ้ว”
ที่ตั้งวัดโสธรวรารามวรวิหาร
เลขที่ 134 ถนน เทพคุณากร ตำบล หน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา 24000
ประวัติวัด
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมมีชื่อว่า “วัดหงส์” มีหลักฐาน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีประวัติที่เล่าสืบทอดกันมายาวนาน และเมื่อเวลาผ่านไป แม่น้ำบางปะกงไหลกัดเซาะตลิ่งพังลงมา วัดหงส์จึงหมดไป จึงมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้ว และคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่อดีตกาล
ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้นแต่แรกมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของพระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้
ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501 ความจริงวัดโสธรแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีใด ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่นอน เพียงแต่ทราบว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เท่านั้นเอง แล้วก็สร้างในสมัยเดียวกับหลวงพ่อบ้านแหลม ที่แม่กลองหรือสมุทรสงคราม ที่มีผู้คนบูชากราบไหว้ เพราะความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน
ประวัติพระอุโบสถหลวงพ่อโสธร หลังใหม่ เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัดมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ ซึ่งหลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ทรงมีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม ซึ่งพระจริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์ (หลวงพ่อเจียม) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาค เพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 นับเป็นที่ปลื้มปิติของชาวฉะเชิงเทรา อย่างหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นเงินบริจาคจากประชาชนทั้งหมด ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ประการใด
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ เป็นงานที่มีความท้าทายเชิงวิศวกรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากตำแหน่งที่ประดิษฐานขององค์พระนั้น เป็นตำแหน่งที่มีความเชื่อว่า เป็นตำแหน่งที่ทำให้บ้านเมืองฉะเชิงเทราเจริญรุ่งเรือง จึงมีข้อจำกัดในการก่อสร้างที่ว่า การก่อสร้างนี้จะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ แม้แต่กระเบียดเดียว ทั้งทางราบ และทางดิ่ง (หมายถึงว่าจะยกขึ้นลงก็ไม่ได้) โดยต้องสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กครอบฐานชุกชี ติดตั้งเครื่องระบายอากาศ มีเครื่องวัดความชื้น และติดตั้งเครื่องวัด และควบคุมอุณหภูมิและความชื้น
ในส่วนของศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ นับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดาน จะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และโดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ เหนือมณฑปพระอุโบสถ และภาพของจักรวาลบนเพดานจะเป็นภาพเขียนประดับโมเสกสี จึงเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุด
ชื่อวัดโสธร หรือวัดโสทร ปรากฏในเรื่องนำเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทราของนายตรี อำมาตยกุล พิมพ์ลงในวารสารปีที่ 6 เล่ม 7 มีข้อความเกี่ยวกับชื่อวีดโสธรนี้ว่า”เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จประพาสวัดนี้เมื่อพ.ศ 2451 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเหล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฏราชกุมาร ยังทรงเขียนชื่อวัดนี้ว่า “วัดโสทร” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัดโสธรเห็นจะเป็นในราวรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่ยังหาหลักฐานวันเดือนปีที่เริ่มใหม่ไม่ได้” อย่างไรก็ตาม ปรากฏในแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม 6 หน้า 105 พ.ศ 2461 ลงเรื่องระยะทางสมเด็จพระมหาสมณะ เสด็จตรวจคณะสงฆ์ในมณฑลปราจีนบุรี พ.ศ2459 ชื่อวัดโสธรได้เขียนไว้อย่างนี้แล้ว พอจะอนุมานได้ว่าได้เปลี่ยนชื่อวัดโสทรเป็นวัดโสธร ในราวต้นรัชกาลที่6 ฉะนั้นผู้ที่เขียนชื่อวัดโสธร เป็นวัดโสทร ภายหลังปี พ.ศ 2459 แล้ว น่าจะเกิดจากการสะกดผิดมากกว่าที่จะมีเจตนาเขียนเช่นนั้น
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสมณฑลปราจีน ร.ศ127 ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงมกุฏราชกุมาร ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับชื่อวัดโสธรว่า “กลับมาแวะวัดโสทรซึ่งกรมดำรงฯ คิดจะแปลว่า ยโสธร จะให้เกี่ยวข้องแก่กาลที่ได้สร้างเมื่อเสด็จกลับจากไปตีเมืองเขมร แผ่นดินพระบรมไตรโลกานาถ หรือเมื่อใดราวนั้น แต่เป็นที่น่าสงสัยเห็นด้วยใหม่นัก…” พระราชปรารถตอนนี้ทำให้เกิดความคิดว่าชื่อวัดโสธรนี้จะเป็นการถูกต้องแล้ว หรือโดยได้ทรงระลึกถึงพระที่นั่ง” ยโสธรมหาพิมานบรรยงค์” ในรัชกาลแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ได้ยกทัพไปตีเมืองเขมร ได้ชัยชนะ ทรงพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติด้วยถ่ายแบบประสาทกับพระที่นั่งในเมืองยโสธร นครธมมาแล้วในกรุงศรีอยุธยา ทำให้สงสัยว่าจะตกตัว”ย” ไปเสียหรืออย่างไร คงเหลือแต่ ” โสธร ” เท่านั้น แต่ในที่สุดพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงปลงพระทัยจะเชื่อนักเพราะทรงเห็นว่าวัดโสธรนี้ยังใหม่ ดังปรากฏตามพระราชปรารถดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ” โสธร ” กับ “ยโสธรมหาพิมานบรรยงค์” มิใช่เป็นสถานที่แห่งเดียวกัน มีที่มาและความหมายต่างกัน วัดโสธรเป็นวัดราษฏรมาแต่ดั้งเดิม พึ่งได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า ” วัดโวสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2501
ข้อความจากหนังสืองานประจำปีหลวงพ่อโสธร ปี พ.ศ. 2505
พระพุทธโสธร หรือเรียกกันสามัญทั่วไปว่า “หลวงพ่อโสธร” เป็นพระทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์เป็นมิ่งขวัญของชาวแปดริ้วและเป็นที่รู้จัก เคารพบููา ของ ประชาชนทั่วประเทศ หลวงพ่อโสธร เป็นพระรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก5 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปพอกปูนลง รักปิดทองพระเนตรเนื้อแบบสมัยลานช้าง หรือเรียกกันสามัญว่า พระลาว พระพุทธรูปแบบนนิยมสร้างกันมากที่เมือง หลวงพระบาง อินโดจีนและภาคอิสาน ของประเทศไทย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดโสธร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ตำนานหรือประวัติของ หลวงพ่อโสธรนี้หาหลักฐาน ยืนยันแน่นอนไม่ได้เป็นเพียงคำบอกเล่าสืบๆกันมา ประวัติที่เกี่ยวกับวัดโสธรเท่านั้น หลวงพ่อโสธรมา ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรนานเท่าใด พอจะมีคำบอกเล่าอันเกี่ยวโยง ถึงหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติ หลวงพ่อพ่อวัดบ้านแหลมกับหลวงพ่อวัดโสธรลอยน้ำมาด้วยกัน และเป็นพี่น้องกันและชาวบ้านแหลม ได้อัญเชิญหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ขึ้นจากน้ำ เมื่อ พ.ศ. 2313 จึงคาดคะเนว่าหลวงพ่อก็มาประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธร ราว พ.ศ.2313 หรือก่อนนั้นก็ไม่นานนัก
ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธร นี้มีผู้เล่าสืบๆ กันมาหลายกระแสว่า หลวงพ่อโสธรลอยน้ำมามีคำปรารถว่า ล่วงกาลนานมาแล้วยัง มีพระพี่น้องชายสามองค์อยู่ทางเมืองเหนือ มีอิทธิปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ได้ ได้อภินิหารล่องลอยตามแม่น้ำมาจากทิศเหนือเพื่อให้คน ทางทิศใต้ได้เห็น ในที่สุดมาผุดขึ้นที่แม่น้ำบางปะกงที่ตำบลสัมปทวนและแสดงปาฏิหารย์ลอยน้ำและ ทวนน้ำได้ทั้งสามองค์ ประชาชน ชาวสัมปทวนได้พบเห็นจึงช่วยกันเอาเชือกรวน มนิลาลงไปผูกมัดที่องค์พระพุทธรูปทั้งสามองค์นั้น แล้วช่วยกันฉุดลากขึ้นฝั่ง ด้วยจำนวนผู้คนประมาณ 500 คน ก็ฉุดขึ้นไม่ได้เชือกขาด ไม่สำเร็จตามความประสงค์ พากันเลิกไป ครั้นแล้วพระพุทธรูปหล่อทั้ง สามองค์ก็จมน้ำ หายไป สถานที่พระสามองค์ลอยน้ำและทวนน้ำได้นี้เลยให้ชื่อว่า”สามพระทวน” ต่อมา เรียกว่า “สัมปทวน” ได้แก่ แม่น้ำหน้าวัดสัมปทวนอ.เมืองแปดริ้ว ต่อจากนั้นพระทั้งสามองค์ก็ลอยตามแม่น้ำบางปะกง เลยผ่านหน้าวัดโสธรไปถึงคุ้งน้ำ ใต้วัดโสธร แสดงฤทธิ์ผุดขึ้นให้ชาวบ้านบางนั้นเห็น ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งทำนองเดียวกับ ชาวสัมปทวนแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงเรียกหมู่บ้าน และคลองนั้นว่า ” บางพระ ” มาจนทุกวันนี้
จากนั้นพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ได้แผลงฤทธิ์ ลอยทวนน้ำวนอยู่ที่หัวเลี้ยวตรง กองพันทหารช่างที่ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา และแสดง ปาฏิหาริย์จะเข้าไปในคลองเล็กๆ ตรงข้ามกองพันทหารช่างนั้นสถานที่พระลอยวนอยู่นั้นเรียกกันว่า ” แหลมหัววน” และคลองนั้น ก็ได้นามว่า คลองสองพี่น้อง (สองพี่สองน้อง) หลังจากนั้นองค์พี่ใหญ่ได้แสดงอิทธิปาฏิหารย์ไปลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชน ประมาณสามแสนคนช่วยกันฉุดอาราธนาขั้นฝั่งก็ไม่สำเร็จแล้วล่องเลยไปผุดขึ้นที่ลำน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ประชาชนชาวประมง อาราธนา ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านแหลม ทุกวันนี้เป็นที่บูชานับถือกันว่าเป็นพระศักดิสิทธิ์เท่าๆ กับหลวงพ่อโสธร ส่วนองค์สุดท้อง ล่องลอยไปผุดขึ้นที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการและชาวบางพลีได้อัญเชิญประดิษฐานอยู่ที วัดบางพลีใหญ่ในอำเภอบางพลี ก็ปรากฏว่ามีผู้คนเคารพนับถือมาก พระพุทธรูปหล่อองค์กลาง นั้นคือ หลวงพ่อโสธร เมื่อลอยตามน้ำมาจากหัววน ดังกล่าวแล้วมาผุด ขึ้นที่ท่าหน้าวัดโสธร กล่าวกันว่า ประชาชนจำนวน มากทำการบวงสรวงแล้วเอาด้ายสายสิญน์คล้อง กับพระหัตถ์หลวงพ่อโสธร อัญเชิญขึ้นมาบนฝั่งนำ ไปประดิษฐาน ในวิหารสำเร็จตามความประสงค์ แล้วก็จัดให้มีการฉลองสมโภชและให้นามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อโสธร
ล่องเรือชมแม่น้ำบางปะกงไปตลาดบ้านใหม่
เรือล่องแม่น้ำบางปะกงไปตลาดบ้านใหม่ มี 5 รอบ ซื้อตั๋วศาลาริมน้ำด้านติดโรงเจของวัดโสธรวราราม มีซุ้มขายตั๋ว อยู่ ค่าโดยสาร คนละ 100 บาท ขาไปใช้เวลา ครึ่งชั่วโมง มีเวลาให้เดินตลาด ไหว้พระ 1 ชั่วโมง ขากลับ ครึ่งชั่วโมง รวม 2 ชั่วโมง พอดี มีไกด์แนะนำสองฝั่งแม่น้ำบางปะกงและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ใส่กรอบให้เรียบร้อย
เที่ยวเรือมีให้เลือกดังนี้ (เสาร์-อาทิตย์)
10.00 – 12.00
11.00 – 13.00
12.00 – 14.00
13.00 – 15.00
14.00 – 16.00
15.00 – 17.00
เที่ยวเรือ วันธรรมดา มี 2 รอบ (จันทร์-ศุกร์) มีรอบ
12.00 – 14.00
14.00 – 16.00
ขากลับก็นั่งรถสองแถวสีเหลือง ฝั่งตรงข้ามวัด นั่งไปสุดสายที่ สถานี บขส.ฉะเชิงเทราเลย ค่ารถ คนละ 7 บาท
Φ
ภาพบรรยากาศวัดโสธร
[smartslider3 slider=69]
∇
การเดินทางไปวัดโสธรวรารามวรวิหาร Wat Sothon Wararam Worawihan