วัดตองปุ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Wat Tong Pu, Ban Ko Subdistrict, Phra Nakhon Si Ayutthaya District, Phra Nakhon Si Ayutthaya

“วัดเก่าแก่ในประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวร ที่จำพรรษาของพระมหาเถรคันฉ่อง”

ที่ตั้งวัดตองปุ
เลขที่ 86 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000

ประวัติวัดตองปุ อยุธยา

วัดตองปุ อยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดิน ตั้งเขตวัดเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรีไหลมาบรรจบกัน

ด้านหน้าวัดอยู่ทางทิศใต้ติดกับแม่น้ำป่าสัก
ด้านหลังวัดอยู่ทางทิศเหนือติดกับถนนเข้าชุมชน
ด้านข้างทางทิศตะวันออกติดกับวัดสะแกร้าง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนเทศบาลวัดตองปุโบราณคณิสสร)
ด้านข้างทางทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำลพบุรี

วัดตองปุ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณพุทธศักราช 1920 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2490 (เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศง 2507) โดยมีพระครูสาธุกิจโกศล (ไวทย์ มุตตกาโม) เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติวัดตองปุตามบันทึกประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2127 ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปพม่า พอถึงเมืองแครงก็ทราบข่าวความลับจากพระมหาเถรคันฉ่อง พระอาจารย์ใหญ่และ พระยาเกียรติ พระยารามผู้นำของชาวมอญว่า พม่าคิดวางแผนหักหลังเพื่อลอบปลงพระชนม์พระองค์ เมื่อทราบความเช่นนั้น พระองค์ทรงพระพิโรธมาก พระองค์จึงขอประกาศอิสระภาพ โดยทำพิธีหลั่งน้ำลงพื้นพสุธา ณ เมืองแครง ไม่ขอเป็นมิตรกับพม่าและไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นอีกต่อไป โดยมีพระมหาเถรคันฉ่องนั่งเป็นประจักญ์พยาน จากนั้นมาพระองค์ทรงกวาดต้อนคนไทยที่เป็นเชลย ณ กรุงหงสาวดี ลำเลียงพลข้ามแม่น้ำสะโตง พอพระมหาอุปราชาทราบเรื่องจึงสั่งสุรกรรมาเป็นนายกองหน้าตามทัพไทย จนทัพประจันหน้ากันคนละฝั่งแม่น้ำและเกิดการสู้รบกันด้วยการยิงปืนไฟข้ามฝั่ง ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประทับปืนยาวยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตายบนหลังช้างทัพพม่าเสียขวัญจึงยกทัพกลับ จึงเป็นที่มาของ “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง”

หลังจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงนำทัพกลับและแวะที่เมืองแครงอีกครั้ง พระองค์ทรงรำลึกถึงความดี และอุปการะของพระมหาเถรคันฉ่องและพระยามอญทั้งสอง พระองค์จึงอาราธนานิมนต์มาอยู่ที่เมืองไทยด้วยกัน จากที่พักเมืองพิษณุโลกทางตอนเหนือของไทย ต่อมาทรงเสด็จย้ายมาประทับ ณ วังจันทร์เกษม (วังหน้า) ของกรุงศรีอยุธยา เพื่อตั้งมั่นสู้ศึก ครั้งถึงวังหน้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณะซ่อมแซมวัดหนึ่งทางทิศตะวันออกของวังหน้าริมฝั่งแม่น้ำ ถวายเป็นที่จำพรรษาแด่ พระมหาเถรคันฉ่อง พระเถระผู้ใหญ่ชาวรามัญและพระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดตองปุ”

กาลครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์จารึกว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกอบพิธีอัญญกิจและสวดพระปริตรซึ่งเป็นโบราณราชพิธีเสริมดวงเมือง เพิ่มพลังสลายปัญหาปรับสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลายเป็นดี ป้องกันความวิบัติต่าง ๆ ในการนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงอาราธนานิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง พระเถรานุเถระวัดตองปุ เป็นองค์สวดทำน้ำมนต์ในพระราชวังชั้นใน เพื่อถวายเป็นน้ำพระพุทธมนต์เป็นน้ำสรงพระพักตร์ สรงพระองค์ และประพรมเป็นทักษิฯาวัตรรอบเขตพระมหามณเฑียรทุกวัน

ประวัติวัดตองปุ จากการเล่าขานของชาวบ้าน

วัดตองปุ เป็นวัดที่สร้างในสมัยโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดตองปู” เหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะว่า ครั้งหนึ่งในสมัยนั้นบรรดาชาวไทยและชาวมอญที่ตั้งบ้านเรือนในละแวกนั้น ทุกครั้งของเทศกาลทำบุญตักบาตรและงานบุญต่าง ๆ ณ วัดตองปุนี้แล้วเสร็จ ผู้ที่มาร่วมทำบุญก็มักจะรับประทานอาหารร่วมกัน โดยห่ออาหารมาจากบ้านด้วยใบตอง และที่สำคัญคือ จะนำใบตองมารองห่ออาหารและรองนั่งแทนเสื่อทุกครั้งไป และกล่าวต่ออีกว่า แม้แต่ทัพพม่าที่มาตั้งทัพก็นำใบตองมาใช้เช่นกัน จากการสังเกตพื้นที่ในวัดสมัยก่อน พบว่ามีดงต้นกล้วยขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะต้นกล้วยตานี คนรุ่งหลังยังเคยพบเห็นอยู่ จากเหตุการณ์นี้จึงเป็ฯที่มาของชื่อ วัดตองปู

ต่อมาวัดตองปุก็ทรุดโทรมเป็นวัดร้างอยู่พักหนึ่ง พระที่เคยจำพรรษาอยู่ก็ย้ายไปประจำ ณ วัดสะแก ซึ่งเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมีพื้นที่อยู่ติดกันกับวัดตองปุ ในตอนนั้น พระปลัดนาค ที่จำพรรษาอยู่วัดสะแก เป็นพระที่ชอบสมถะ ความเงียบสงบ หลังจากที่ท่านฉันอาหารเสร็จทุกครั้ง ท่านมักจะมาท่องหนังสืออยู่ที่ป่าวัดตองปุเป็นประจำ พอนานวันพระรูปอื่น ๆ ก็ติดตามท่านมาท่องหนังสือ พร้อมให้ท่านสอนธรระ ต่อมาบรรดาฐาติโยมได้เห็นกิจวัตรของพระสงฆ์กลุ่มนี้ จึงเกิดแรงศรัทธาและรวมตัวกันปลูกเพิงเป็นที่พักอาศัย พอถึงวันเข้าพรรษา พระปลัดนาคเป็นประธานและพระอีกหลายรูปพร้อมใจอยู่จำพรรษา ณ เพิ่งกุฏิในวัดตองปุ ต่อมาบรรดาชาวบ้านที่เลื่อมใสและเป็นญาติโยมก็หันมาทำบุญ ณ วัดตองปุนี้อีกครั้ง ทำให้วัดตองปุมีการพัฒนาการก่อสร้างเสนาสนะ ศาสนสถานให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ศาลาการเปรียญวัดเปิดเป็นที่ทำการสอนหนังสือแก่เด็กในหมู่บ้าน และทั่วไปโดยมีพระเป็นผู้สอน ทั้งยังเปิดสำนักเรียนเปรียณธรรมประโยคต่าง ๆ แก่พระภิกษุสามเณรในวัด นับว่าเป็นผลสำเร็จเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน

วิหารหลวงพ่อโต แต่เติมเป็นพระอุโบสถมหาอุดหลังเก่า สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณปี พ.ศ. 1920 และต่อมาเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2027 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มีการบูรณะปรับปรุงสร้างเป็นวัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อเป็ฯที่จำพรรษาแด่พระเถระรามัญ คือ “พระมหาเถรคันฉ่อง” และพระราชทานนามวัดว่า “วัดตองปุ

จากการที่ข้าศึกพม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา ได้เผาทำลาย แต่ยังคงเหลือซากปรักหักพัง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมทิ้งไว้ให้เห็น ที่สำคัญคือ ฐานขอบเขตวิสุงคามสีมา และรากฐานแท่นพระอุโบสถหลังเก่าแต่ดั้งเดิม รวมทั้งองค์พระประธานในโบสถ์ที่ชำรุด คงสภาพเหลือเป็นองค์หลวงพ่อโตพอจะปรากฏให้เห็น และต่อมาได้บูรณะพระอุโบสถและหลวงพ่อโตพระประธานต่อเนื่องอีกครั้งตามรากฐานโครงสร้างโบสถ์เดิม รูปทรงมหาอุดม์ หน้าโบสถ์และพระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะโบสถ์รามัญ ในครั้งพระมหาเถรคันฉ่อง พระเถระเจ้าอาวาสสมัยนั้น

“พระประธานในพระอุโบสถ”

คำว่า “โบสถ์มหาอุดม์” นั้น แต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธียันกิจ พิธีสวดพระปริตร ปลุกเสกน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ปลุกเสกเครื่องรากของขลังในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


ภาพบรรยากาศวัดตองปุ
[smartslider3 slider=173]


การเดินทางไปวัดตองปุ อยุธยา

#วัดตองปุ
#วัดที่เกี่ยวข้องกับพระนเรศวรมหาราช
#วัดจำพรรษาของพระมหาเถรคันฉ่อง
#ทัวร์วัดไทยไม่ไปไม่รู้
©เครดิตภาพคุณทิฆัมพร ตันติวิมงคล

Comments

comments