วัดกษัตราธิราช วรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา
(Wat Kasattrathirat Worawihan, Phra Nakhon Si Ayutthaya District, Ayutthaya)
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
“สักการะบูชาพระประธานในพระอุโบสถ ผู้ใดได้มากราบมาไหว้จะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานก้าวหน้ายิ่งยิ่งขึ้นไป”

ที่ตั้งวัด
เลขที่ 33/5 ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
เว็บไซด์วัด watkasattra.wordpress.com

ประวัติวัดกษัตราธิราชวรวิหาร

เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเดิมชื่อ “วัดกระษัตรา” หรือ “วัดกระษัตราราม” แต่จะสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้างไม่ปราฏหลักฐาน ขณะที่ชื่อของวัดชวนให้ท่านผ้รู้ส่วนมากสันนิษฐานว่า คงจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขั้น ดังนั้น วัดนี้จึงมีชื่อว่าวัดกระษัตรา หรือ วัดกระษัตราราม ซึ่งหมายความว่า เป็นวัดของพระมหากษัตริย์ หรือวัดของพระเจ้าแผ่นดิน

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวังหลังหรือวังสวนหลวง

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระปรางค์เป็นประธานของวัด ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวัง และกรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม

วัดกษัตราเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดกษัตราธิราช” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดกษัตราธิราช คงจะถูกข้าศึกทำลายอย่างยับเยินเมื่อคราวเสียกรุงฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 หรือก่อนหน้านั้น เนื่องจากที่ตั้งวัดอยู่ไม่ไกลกับวัดท่าการ้อง วัดลอดช่องและวัดวรเชษฐ ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งค่ายของพม่ามากนัก ผู้คนจึงพากันอพยพหลบหนีภัยสงคราม แม่พระสงฆ์ก็คงจะอยู่ไม่ได้ วัดจึงต้องร้างไปในที่สุดและคงจะตกเป็นวัดร้างมาเป็นเวลาหลายปี

สถานที่สำคัญภายในวัด คือ พระประธานในพระอุโบสถที่มีแท่นฐานผ้าทิพย์ปูนปั้น ฝีมือประณีตงดงาม ใบเสมาของพระอุโบสถเป็นใบเสมาคู่แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง

สำหรับพระอุโบสถที่พระประธานประดิษฐานอยู่ มีขนาด 9 ห้อง กว้าง 22 เมตร ยาว 46 เมตร ผนังก่ออิฐเจาะช่องแสงแบบเสาลูกมะหวด ด้านหน้าพระอุโบสถมีบันไดขึ้น 2 ทาง ช่องกลางก่อเป็นซุ้มบัญชร ช่องหน้าต่าง ด้านหลังมีมุขเด็จ ทำเป็นบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ประตูกลางของมุขเด็จ ด้านหลังก่อเป็นซุ้มกั้นห้องประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางป่าเลไลยก์

ส่วนหลังคาพระอุโบสถช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ประกอบด้วยเครื่องไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู หรือกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา หน้าบันทั้ง 2 ด้าน จำหลักลายดอกพุดตาน มีสาหร่ายรวงผึ้งคั่นสลับระหว่างเสา ลงรักปิดทองประดับกระจก มีคันทวย รองรับระหว่างชายคา ที่แกละสลักอย่างงดงาม สืบทอดรูปแบบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา

ภายในพระอุโบสถเสากลมมีบัวที่หัวเสาเป็นแบบดอกบัวตูมจำนวน 6 คู่ รองรับเครื่องบน เพดานเขียนลายทองเป็นลายราชวัตร ดอกกลมและพุ่มข้าวบิณฑ์ สลับกันเป็นระยะบนพื้นสีแดง เพดานสลับไม้ลงรักปิดทองพื้น

ภายในพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลีที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแด่พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธัมมสิริโชติ) อดีตเจ้าอาวาส เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากการก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ

ตามความเชื่อ

“ผู้ใดได้มากราบมาไหว้จะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานก้าวหน้ายิ่งยิ่งขึ้นไป “

นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการ ทหารตำรวจ จะมาขอพรบารมีเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งมักจะนิยมสักการะทำบุญในพระอุโบสถแห่งนี้ เพราะถือว่าจะทำให้ชีวิตสดใสก้าวหน้าตลอดไป

การเดินทางไปวัดกษัตราธิราชวรวิหาร อยุธยา

Comments

comments