วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

Wat Phra Sri Mahathat Woramahawihan, Anusawari Subdistrict, Bang Khen District, Bangkok.

“สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุในพระมหาเจดีย์  ไหว้พระศรีสัมพุทธมุนี พระพุทธมงคลมุจลินท์ ทำบุญพระประจำวัน ถวายสังฆทาน ชมต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดีย  ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ให้ทานอาหารปลา”

ที่ตั้งวัด
เลขที่ 149 แขวงอนุสาวรีย์ ถ.พหลโยธิน อนุสาวรีย์ บางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
เบอร์โทรติดต่อ 0 2986 0832, 0 2521 2992

วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน1

ประวัติวัด
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2484 และเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2485 สร้างในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้มีการตั้งนามวัดว่า วัดพระศรีมหาธาตุ และถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ
พระเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

วัดพระศรีมหาธาตุ มีถาวรวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจดีย์ศรีมหาธาตุซึ่งภายในมีเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและที่ผนังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนเห็นสมควร และยังมีพระศรีสัมพุทธมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัยซึ่งเดิมประดิษฐานที่วังหน้า

พระอุโบสถจตุรมุข
วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน11
พระอุโบสถ
พระศรีสัมพุทธมุนี

พระอุโบสถเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้เป็นวิหารคตล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นศาลาการเปรียญ ตรงหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งพระมหาเจดีย์ สูง 38 เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ

WatPhraSriMahathat
พระพุทธรูปในวิหารคต
พระพุทธมงคลมุจลินท์
ศาลาการเปรียญ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศ และบรรดาศักดิ์ เป็นพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ 24 มิถุนายน 2484 สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยท่านมีเหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 และประสงค์จะให้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย”

ในขณะที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น เกิดศุภนิมิตรอันประเสริฐโดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะทูตพิเศษ อันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็นนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) คณะทูตได้ติดต่อขอดังนี้

  • พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  • ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่เดิม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย
  • ขอดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ จากที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

WatPhraSriMahathat15

รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนานั้นมีมาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ แต่มีประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ (พ.ศ. 2484) ที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นประเทศเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก “ประเทศนั้นคือ” ประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงพิจารณามอบให้ คือ

  • พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
  • มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ 5 กิ่ง
  • และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้ตามความประสงค์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์

รัฐบาลไทยจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงตกลงตั้งนามวัดว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ”

ทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด

วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน3

วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน8

วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน5
ถวายสังฆทาน
ทำบุญให้ทานอาหารปลา

การเดินทางไปยังวัดพระศรีมหาธาตุ เริ่มต้นจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวให้วิ่งมาตามถนนพหลโยธินมุ่งหน้ารังสิต วัดจะอยู่ก่อนถึงวงเวียนหลักสี่ มีรถประจำทางสาย 26, 34, 39, 59, 114, 126, 503, 512, 524 ผ่าน

แผนที่ไปวัดพระศรีมหาธาตุ

 


 

Comments

comments