วัดทรงธรรม วรวิหาร ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
(พระอารามหลวง ชั้นโท)
Wat SongTham Worawihan Talat Subdistrict, Phra Pradaeng District Samut Prakan.
“สักการะบูชาพระมหาธาตุรามัญเจดีย์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย รอยพระพุทธบาทจำลอง วัดคู่บ้านคู่เมืองนครเขื่อนขันธ์ มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี”

·

ที่ตั้งวัดทรงธรรมวรวิหาร
เลขที่ 1200 ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130

วัดในพุทธศาสนารามัญนิกาย(เดิม)

ประวัติวัด
วัดทรงธรรมวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นโท ชั้นวรวิหาร เป็นวัดรามัญมาแต่เดิม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์) ทรงสร้างพร้อมกับการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ มีกุฏิ และพระอุโสบสถเป็นเครื่องไม้ฝากระดาน เมื่อปี พ.ศ. 2357 – 2358 อยู่ห่างจากฝั่งเจ้าพระยาประมาณ 2 เส้น

หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2360 สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดใก้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติม ได้สร้างป้อมขึ้นใหม่ คือ “ป้อมเพชรหึง” โดยใช้อาณาบริเวณวัดทรงธรรม จึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมอยู่ในกำแพงป้อมทำให้ได้กุฏิเป็น 3 คณะ

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า วัดชำรุดทรุดโทรมมากจึงโปรดให้พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) รื้อกุฏิทั้ง 3 คณะมาสร้างรวมเป็นหมู่เดียวกัน

ครั้นขึ้นปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 เป็นปีที่ 7 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแปลชื่อ วัดทรงธรรม เมืองนครเขื่อนขันธ์ว่า “วัดดำรงค์ราชกรรม” ต่อมาภายหลังกลับมาใช้ชื่อว่า “วัดทรงธรรม” เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน

สำหรับชื่อวัดมีข้อสันนิษบานว่า มาจากความเชื่อของชาวมอญที่มักยกย่องผู้มีคุณธรรมโดยกล่าวเป็นภาษารามัญว่า “เมินโท่” ซึ่งแปลว่า “ผู้ทรงธรรม” อันหมายความถึง ชาวมอญยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า เป็นผู้ทรงธรรม

ชื่อวัดทรงธรรมนั้น ครั้งนึงชาวบ้านเคยเรียกว่า แผ่พระครู หรือ วัดพระครู ด้วยคำว่าพระครูนี้ มาจากวัดทรงธรรมเป็นวัดหลวง เจ้าอาวาสที่ประจำวัดจะต้องมีสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร

มีพระรามัญเจดีย์องค์ใหญ่ ศิลปะรามัญ พระวิหารก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้สัก ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย 

ภายในวัดมีพระมหาธาตุรามัญเจดีย์ในรูปแบบมอญ เสาหงส์ ธงตะขาบ สัญลักษณ์แสดงตัวตนของชาวมอญ ที่ได้รับการสืบทอดทางวัฒนธรรมประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน และที่วัดยังเป็นศูนย์กลางการจัดงานประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ ในช่วงสงกรานต์ประจำทุกปีอีกด้วย การเดินทางมาวัดสะดวก หาง่าย อยู่ใกล้ตลาดพระประแดง

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัด

– ตุ๊กตาไม้รูปชูชก และอมิตดา เป็นตุ๊กตาไม้ค้นพบได้ในวัด ปัจจุบันตั้งอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยศึกษาจากเครื่องนุ่งห่ม และลายผ้าตุ๊กตา และเป็นที่มาของวัตถุมงคล เมตตามหานิยม ช่วยเรื่องการติดต่อค้าขาย
– พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดทรงธรรม เป็นการจัดเก็บ จัดแสดงของเก่าของโบราณ ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านชาวมอญ ที่รวบรวมได้ เช่น รถลาก กระติกน้ำ ขันน้ำ เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ เป็นต้น

งานประจำปีของวัดทรงธรรม

– วันที่ 7-9 เมษายน ของทุกปี มีการทำบุญประจำปีของทางวัด
– วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีการถวายสลากภัตร จับสลากถวายของพระ เป็นการถวายทานตามกาล
– ก่อนวันออกพรรษา 1 วัน (เวลา 15.30 น.) มีการแห่ผ้าแดง และนำขึ้นห่มเพื่อเป็นการถวายสักการะแก่พระมหาธาตุรามัญเจดีย์
– วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี (วันสงกรานต์) มีขบวนแห่หงส์-ธงตะขาบ และชักธงตะขาบขึ้นสู่เสาหงส์

การแห่หงส์ -ธงตะขาบ

ธงตะขาบ ถือเป็นเครื่องสูง เครื่องบูชา เป็นธงที่ทำขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ถวายการสักการะแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันออกพรรษา ซึ่งตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ในช่วงเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นพระพุทธองค์จะเสด็จกลับลงมาโลกมนุษย์ ก็จะมีผู้คนและเทวดามาเฝ้ารอรับพระองค์ โดยมีการทำธงผ้า ตุง(ธงทางเหนือ) หรือพระบฏ (ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าสำหรับบูชา) คอยต้อนรับ

สำหรับชาวมอญแล้ว จะทำธงตะขาบนำแขวนบนยอดเสาในวัดมอญ เพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าในวันสงกรานต์ ลักษณะธงตะขาบนี้จะทำเป็นความกว้างของลำตัวแบ่งเป็น 5 ช่อง (เปรียบดั่งศีล 5) และมีความยาวเป็นปล้องๆ ลงมา 9 ปล้อง รวมทั้งสิ้น 45 ช่องตามจำนวนพรรษาของพระพุทธเจ้า บนธงนี้มีตา 2 ข้าง หนวด และเขี้ยว หมายถึงสติสัมปชัญญะ หิริโอตัปปะ และความกตัญญูกตเวที

ภาพบรรยากาศภายในวัดทรงธรรมวรวิหาร

การเดินทางมาวัดทรงธรรมวรวิหาร
พิกัด 13°39’44.7″N 100°32’08.1″E

Comments

comments