วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ถนนสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่
Wat Umong (Suan Phuthatham) Suthep Road, Mueang District, Chiang Mai

“ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม ณ สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ โบราณสถานคู่เมืองเชียงใหม่กว่า 700 ปี”


อุโมงค์ทางเข้าวัด แลนด์มาร์คของวัด

ที่ตั้งวัดอุโมงค์
เลขที่ 135 ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทร 085-033-3809

ประวัติวัดอุโมงค์
วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เป็นวัดราษฎร์ นิกายเถรวาท

วัดอุโมงค์ สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวๆ ปี พ.ศ.1839 ซึ่งถ้านับถึงวันนี้ก็ราวๆ 700 กว่าปีแล้ว

วัดอุโมงค์ (อุโมงค์เถรจันทร์) เป็นชื่อเรียกวัดเก่าที่ “พระเจ้ากือนาธรรมิกราช” ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย

วัดอุโมงค์นี้หมายเอาเฉพาะบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีกำแพงอิฐปรากฏอยู่ทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกจากขอบสระใหญ่ ด้านเหนือตรงไปทางทิศเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันจรด กำแพงอิฐพอดี ยาวประมาณ 100 วา ด้านเหนือจากแนวกำแพงเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันทางทิศตะวันตก จนถึงขอบสระหลังวัดอุโมงค์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านตะวันตกจากขอบ สระแนวกำแพงด้านเหนือ ถึงขอบสระใหญ่ใต้พระเจดีย์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านใต้จากขอบสระหลังพระเจดีย์ตรงไปทางตะวันตกออกจรดกำแพงทิศตะวันออกหน้าพระอุโบสถ ยาวประมาณ 100 วา มีพระอุโบสถขนาดย่อมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพระเจดีย์ใหญ่แบบลังกาวงศ์ และอุโมงค์(ถ้ำ) 1 อุโมงค์ มีทางเข้า 3 ทาง ตั้งอยู่ตลอดแนววัดด้านตะวันตก และมีศาลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากหน้าอุโมงค์ไปประมาณ 1 เส้น คิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 25 ไร่

สวนพุทธธรรม เป็นชื่อใหม่ที่ ภิกขุ ปัญญานันทะ ประธานวัดอุโมงค์ ในสมัยนั้น (2492-2509) ตั้งขึ้นเรียกสถานที่ป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ ที่พุทธนิคมเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นที่อยู่ของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้แสวงหาความสงบ พื้นที่ซึ่งเรียกว่า สวนพุทธธรรมนี้กว้างมาก รวมเอาวัดไผ่11กอ (เวฬุกัฏฐาราม ซึ่งพระเจ้ามังรายมหาราชทรงสร้างไว้ถวายเป็นที่พำนักของพระมหากัสสปะเถระ ชาวลังกา ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น) วัดอุโมงค์เถรจันทร์ และวัดอื่นๆ (ที่อยู่ใกล้วัดอุโมงค์ทั้ง 4 ด้าน) อีก 4 วัดเอาไว้ด้วยทั้งหมด

ประวัติวัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) มีหลักฐานทางตำนานไม่สู้จะละเอียดนัก ต้องอาศัยหลักการทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่เข้าช่วยจึงได้ความชัดขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สู้จะมั่นใจว่าประวัติที่นำมาเสนอท่านนี้จะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบริเวณที่ถูกเรียกว่า สวนพุทธธรรม นี้มีวัดอยู่หลายวัด สร้างเก่าบ้างใหม่บ้างสับสน ซับซ้อนยิ่งวัดเหล่านี้เป็นวัดกษัตริย์ราชวงศ์มังราย(นับจากพระเจ้ามังรายเป็นต้นมา) ทรงสร้างสืบๆ ต่อกันมาเป็นระยะเวลาเกือบ 700 ปีด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สันนิษฐานยากขึ้นไปอีก แต่ถึงแม้การศึกษายากเพียงไร หลักฐานที่ค้นได้ และนำมาประกอบการเขียนเรื่องนี้ ทำให้มั่นใจว่าจะทำให้ท่านเข้าใจประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

พระเจดีย์ 700 ปีศิลปกรรมล้านนา

ด้านบนของอุโมงค์นั้นจะเป็นที่ประดิษฐานของ พระเจดีย์ 700 ปีศิลปกรรมล้านนา ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ค่ะ บริเวณโดยรอบมีความสวยงามด้วยต้นไม้ แมกไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่มอสสีเขียวชอุ่มจะขึ้นปกคลุมบริเวณรอบๆ ตัววัด เจดีย์ และด้านหน้าของอุโมงค์ ทำให้ที่นี่สวยงามมากๆ

เสาหินอโศกจำลอง

นอกจากนี้วัดอุโมงค์ ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็นหลายส่วนด้วยกัน คือ เสาหินอโศกจำลอง, หลักศิลาจารึก, บันไดขึ้นไปเจดีย์, เศียรพญานาค, รูปพระโพธิสัตว์, พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง, โรงภาพปริศนาธรรม, หอสมุดธรรมโฆษณ์, พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ และ สำนักงานสวนพุทธธรรม อีกด้วย

ภาพบรรยากาศวัดอุโมงค์

การเดินทางไปวัดอุโมงค์

Comments

comments