ความเผลอคิดเป็นการทำงานของจิต

ความเผลอคิด นั้นคือการทำงานของจิต ……

จิตไม่มีรูปร่างตัวตนแต่จิตแสดงออกมาในรูปของความคิด จริงๆแล้วอาจารย์ (พระอาจารย์ครรชิต) ใช้คำว่า “ความเผลอคิด” เพื่อให้แตกต่างกับความตั้งใจคิดเท่านั้น เป็นชื่อโดยสมมติบัญญัติที่ตั้งขึ้นมา แต่จริงๆก็คือ ความเผลอคิด นั้นก็คืออาการที่จิตมันคิดเอง มันเป็นของมันเอง สังเกตดูมั๊ยว่า พอตากระทบรูปปุ๊บมันเกิดความคิดขึ้น หูได้ยินเสียงปั๊ปมันเกิดความคิดขึ้น ใช่หรือไม่ มันจะคิดของมันเองด้วยความคุ้นเคยด้วยความคุ้นชิน เพราะฉะนั้นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ความเผลอคิดนั้นมันเป็นการทำงานของขันธ์ ๕ แต่เรากลับไม่รู้จักกับมัน

ความเผลอคิดมีมานานหรือยัง

ตั้งแต่เราเกิด แม้แต่เราอยู่ในครรภ์ของมารดาความคิดมันก็มี ถึงบอกว่า เด็กในครรภ์ยังฝันใช่หรือไม่ เพราะความคิดคือตัวบ่งชี้ถึงการยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันคือการทำงานของจิต เพราะฉะนั้นตัวนี้มันมีกับเรามาตั้งแต่เรากำเนิดเกิดขึ้น เพราะมันคือขันธ์ ๕ ความเผลอคิดหรือการคิดเองของมันนี้เป็นการทำงานของจิต จิตมันทำงานของมันเอง จึงเป็นกระบวนการทำงานของขันธ์ ๕ ซึ่งมันมีอยู่แล้ว เราจะรู้จักมันหรือไม่รู้จักมัน มันก็มี ปัญหาก็คือเรากลับไม่เคยรู้ทันมัน เมื่อเราไม่รู้ทันการเผลอคิดสิ่งที่ตามมาก็คือเราจะเผลอเอาถูกเอาผิดยินดียินร้าย แล้วก็ไปปรุงแต่งเป็นสุขเป็นทุกข์ไปกับมัน เรียกว่าไปมีอุปทานกับมัน จึงเป็นอุปทานในขันธ์ กิจที่ควรทำต่อความเผลอคิดก็คือรู้ให้ทัน คุณนั่งยกมือสร้างจังหวะ มันแว็บออกมาเองใช่หรือไม่ นั่งฟังอาจารย์อยู่นี่ มันก็เผลอแว็บไปตั้งกี่ครั้งแล้ว ใช่หรือไม่

คุณมีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้น “รู้ให้ทัน” ถ้าคุณรู้ไม่ทันคุณจะเผลอมีอุปาทานกับมัน คือเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาถูกเอาผิด ยินดียินร้ายมีอภิชชาและโทมนัสกับมัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเพราะอุปาทานในขันธ์ ๕ นั่นแหละจึงเป็นทุกข์ การรู้ทันความเผลอคิดจึงเป็นการเฝ้าสังเกตการทำงานของขันธ์ ๕ มันจึงนำพาเราไปสู่การเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับลงแห่งทุกข์และหนทางแห่งการดับทุกข์ จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้เรื่องทุกข์และการดับทุกข์

การรู้ทันความเผลอคิด

จึงเป็นไปเพื่อการเรียนรู้สู่โลกุตระ มันไปได้สูงสุดถึงขั้นโลกุตระคือความหลุดพ้น ปัญหาคือเราไม่รู้จักมัน ทั้งๆที่มันมีแก่เรา เราเรียนรู้ที่จะตั้งใจคิด ศาสตร์หรือความรู้ทางการศึกษามันเป็นไปเพื่อให้เราตั้งใจคิด นานๆเข้าเราก็เลยไม่รู้จักความเผลอคิด เราก็เลยอยู่กับความตั้งใจคิดแต่จริงๆเราก็มีผลอคิดแต่เพราะความที่เราอยู่กับความตั้งใจคิด มันก็เลยทำให้รู้จักความคิดในระบบเดียวเท่านั้นคือฉันเป็นคนคิด เพราะความที่อยู่กับความตั้งใจคิดมันจึงทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้คิดใช่หรือไม่ พอความเผลอคิดปรากฏ เราก็ตีเหมารวมอีกว่าเป็นความคิดของเรา ตรงนี้แหละ คือความรู้สึกของคำว่า “สักกายทิฏฐิ” นี่คือสังโยชน์ตัวที่ ๑ เลย เมื่อแยกกายกับจิตไม่เป็น มองไม่ออก ก็มองว่ากายกับจิตเป็นอย่างเดียวกัน “เป็นเรา” นี่คือความหมายของ “สักกายทิฏฐิ” การที่อาจารย์พาคุณแยกให้เห็นถึงความเผลอคิดกับความตั้งใจคิด มันเป็น “จุดเริ่มต้น” ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ยิ่งชัดเข้าไปใหญ่เพราะในสัมมาทิฏฐิ คุณต้องแยกให้เห็นว่าทุกข์กายเป็นอย่างไร ทุกข์จิตเป็นอย่างไรต้องกำหนดรู้ทุกข์และการดับทุกข์ ในสัมมาทิฏฐินั้นคือการตั้งเป้าหมายว่าชีวิตฉันจะเรียนรู้เรื่อง…

ทุกข์และการดับทุกข์ ถ้าไม่ตั้งตรงนี้มันผิดออกไปเลย

ขอขอบคุณข้อสรุปดี ๆ จากคุณหลี ผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมในคอร์สมาเล็ง มาเพ่งใจ ก่อนเพ่งไป มะเร็งกาย

Comments

comments