วัดหน้าพระเมรุราชิการาม ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา
พระอารามหลวง ชั้นตรี
Wat Na Phramen Rachikaram, Phra Nakhon Si Ayutthaya
"สักการะหลวงพ่อพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ, บูชาหลวงพ่อคันธารราฐ พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีและพระพุทธรูปโบราณสมัยลพบุรี"

 

ที่ตั้งวัด
เลขที่ ท. 76 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เวลาเปิดปิด ทุกวัน 8.30 - 17.30 น.
เบอร์โทรติดต่อ 035-328 709

WatNaphrameru-Ayutthaya-26

ประวัติวัดหน้าพระเมรุ

วัดหน้าพระเมรุ มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชการาม" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งต้นสมัยอยุธยา เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้

WatNaphrameru-Ayutthaya-21
(หลวงพ่อพุทธนิมิตรวิชิตมาร โมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ)

พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ (หลวงพ่อพุทธนิมิตรวิชิตมาร โมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ) ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์

ภายในวัดมี พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ ซึ่งคงสร้างขึ้นราวรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง

พระอุโบสถมีวิหารน้อยที่สร้างขึ้นโดยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปแบบลอกเลียนมาจากพระอุโบสถ แต่ลดขนาดให้เล็กลงกับทั้งเปลี่ยนหน้าบันให้เป็นลายพรรณษาตามความนิยมของศิลปะในช่วงนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา

เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมคงประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน และได้ย้ายมายังวัดมหาธาตุ อยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน นับเป็น 1 ใน 6 องค์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย

"หลวงพ่อคันธารราฐ"

วิหารน้อยหรือวิหารเขียน ซึ่งมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องการค้าสำเภาและพุทธชาดกต่าง ๆ และยังมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ สลักจากหินปูนสีเขียวแก่ เรียกว่า "หลวงพ่อคันธารราฐ" ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทยเวลานี้ ความเก่าแก่นั้นกล่าวได้ว่าเก่าแก่ก่อนสมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของโบโรบูดูร์ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว


การเดินทางไปวัดหน้าพระเมรุราชิการาม
พิกัด 14.362252, 100.558762
โดยรถยนต์ เมื่อมาถึงเกาะเมืองอยุธยา วิ่งรอบคูเมืองไปตามถนนอู่ทอง ตัดข้ามคูเมือง ตามเส้นที่จะไปบ้านคลองสระบัว วัดหน้าพระเมรุอยู่ด้านซ้ายมือ


ชมภาพบรรยากาศวัดพระเมรุ