สำนักจิตภาวนาสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) อยุธยา

จิตภาวนา

ตำนานสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระจนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า“พระสังฆราชไก่เถื่อน” เพราะทรงสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า, ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสีนิยมความสงบวิเวก จึงได้โปรดให้มาอยู่วัดพลับ อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร, และเพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั่นเอง

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมราชวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ปรากฏนามพระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา

นัยว่าการศึกษาวิปัสสนาธุระ ของสำนักวัดราชสิทธาราม ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงครองวัดอยู่นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะผู้ครองวัดทรงเชี่ยวชาญและมีกิตติคุณในด้านนี้เป็นที่เลื่องลือ. ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุแล้ว การศึกษาวิปัสสนาธุระแม้จะยังมีอยู่ ก็ไม่รุ่งเรืองเท่ากับสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ยังทรงครองวัดนั้นอยู่

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระชนมายุได้ ๘๘ พรรษาแล้ว ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ไม่ถึง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ เหตุที่ไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน เพราะทรงเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ, แต่ประเพณีการเลือกสมเด็จพระสังฆราช คงถือเอาคันถธุระเป็นสำคัญ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระจึงไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน มาในครั้งนี้เห็นจะทรงพระราชดำริว่า พรรษาอายุท่านมากอยู่แล้ว มีพระราชประสงค์จะสถาปนาให้ถึงเกียรติยศที่สูงสุดให้สมกับที่ทรงเคารพนับถือ เข้าใจว่าเห็นจะถึงทรงวิงวอน ท่านจึงรับเป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปีกับ 10 เดือน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2365 มีพระชนม์มายุได้ 89 โดยปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือ อย่างยิ่งนั้นเอง ส่วนการพระเมรุนั้นโปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2365 นั้น ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้.

คาถาไก่เถื่อน พระสังฆราชสุก
สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร(สุก ไก่เถื่อน)
ท่านได้อุปสมบทที่วัดอรัญวาสีที่เป็นวัดหลวงแห่งหนึ่ง ในที่บางแห่งได้บันทึกไว้ว่าท่านอุปสมบทที่วัดโรงธรรม เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้นามทางพระพุทธศาสนาว่าญาณสังวโรภิกขุ อุปสมบทแล้วจึงกลับมาอยู่วัดเดิมกับพระอาจารย์ของท่าน โดยพระอาจารย์ของท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อถึงคราวออกธุดงค์ ท่านก็ได้ธุดงค์ไปกับอาจารย์ของท่านอีกเช่นเคย จนกระทั้งสิ้นบุญอาจารย์ท่าน ต่อมาท่านก็ได้ออกธุดงค์เดี่ยวด้วยจิตใจที่กล้าแข็งมุ่งมั่น บางครั้งไปพบอาจารย์ในระหว่างทาง ท่านก็ตามอาจารย์นั้นไปเรียนวิชาเพิ่มเติม ถ้าได้ข่างที่ไหนมีอาจารย์ดีๆ พระองค์ท่านก็จะดั้นด้นไปผากเรียนวิชา มีทั้งวิชากรรมฐาน วิชาสูญทกลา-จันทกลา วิธีเดินจิตรักษาตัวเอง รวมทั้งวิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาญาณโลกุตร 19 รวมทั้งวิชาทำธาตุ

ในครั้งนั้นหัวเมือง ฝ่ายเหนือตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระอาจารย์สุกไป ครั้งนั้นไปปักกลดตามป่าบ้าง วัดร้างบ้าง วันหนึ่งท่านเดินมาที่วัดร้างในป่าแห่งหนึ่ง ณ เมืองลำพูน เมื่อมาถึงท่านก็ได้เดินสำรวจที่สำหรับปักกลดมาถึงที่แห่งหนึ่ง พบแผ่นหินแผ่นหนึ่งท่านจึงปักกลดที่ข้างแผ่นหินนั้น พอตกเวลากลางคืนเงียบสงัดท่านก็เข้าที่ภาวนา

เมื่อท่านภาวนาอยู่นั้น ท่านก็ได้เห็นนิมิตเป็นอักษรขอมโบราณ พอรุ่งเช้าท่านก็ออกบิณฑบาตกลับมาฉันเรียบร้อยแล้วท่านจึงรวบมุ้งกลด จึงใช้สมาธิมองไปที่แผ่นหินนั้น ท่านก็เห็นอักษรอยู่ใต้หินแผ่นหิน ท่านจึงหงายแผ่นหินขึ้นพบอักษรภาษาขอมเป็นคาถา 16 ตัว

ท่านจึงท่องจำพระคาถานั้นให้ขึ้นใจแล้วท่านจึงพัก ณ ที่นั้นอีกหนึ่งคืน กลางดึกคืนนั้นท่านก็นั่งเข้าที่ภาวนาพระคาถานั้น จึงทราบว่า คาถานี้ คือ คาถา “ไก่เถื่อน” รุ่งเช้าอีกวันฉันอาหารบิณฑบาตแล้ว ก็นั่งภาวนาอีก สักครู่ก็มีไก่ป่า จำนวนมากมารุมล้อมท่าน ท่านจึงรู้ว่าคาถานี่ดีทางด้านเมตตา และสามารถเรียกได้ต่างๆ พระคาถามีความดังนี้

“. เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว

ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา

สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา

กุตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ. “

หลวงปู่สุกท่านถอนกลดเดินทางในป่านั้น เดินไปเรื่อยๆ จนใกล้ค่ำ จึงปักกลด ตกกลางคืนก็เข้าที่ภาวนา พอเช้าฉันบิณฑบาตแล้ว ตอนสายแก่ๆ ท่านก็ภาวนา พระคาถาไก่เถื่อนอีก คราวนี้มีไก่ป่ามามากมายหลายสายพันธุ์มารุมล้อมท่าน บางตัวก็ขึ้นไปยืนบนเข้าท่านทั้งสองข้าง ท่านจึงทราบว่า เป็นคาถาที่ทำให้ไก่ป่าเชื่องได้ ปละเป็นคาถาที่ใช้สร้างสมในทางเมตตาบารมี

ต่อมาเมื่อท่านไปปักกลดที่ไหนเพียงนึกถึงไก่ป่าเท่านั้น ยังมิได้ภาวนาพระคาถาไก่เถื่อน ก็มีไก่ป่ามารุมล้อมตัวท่านแล้ว นับได้ว่าท่านได้สำเร็จเมตตาบารมีไปอีกขั้นหนึ่ง แล้ว ไก่ป่านี้เป็นสัตว์ที่เชื่องคนยากมาก เมื่อเห็นคนหรือได้กลิ่นมนุษย์ ก็จะบินหนีหลบซ่อนทันที โดยที่คนไม่ทันได้เห็นตัวมัน

ด้วยเหตุที่หลวงปู่สุก พระองค์ท่านอบรมบารมีมาในเมตตา และเมื่อพระองค์ท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว พระคาถานี้จึงเรียกว่า พระคาถาพระยาไก่เถื่อน ตั้งแต่นั้นมา ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คาถาไก่เถื่อนนี้เป็นคาถาที่สร้างสม ในทางเมตตาบารมี

เมื่อ พ.ศ. 2069 พระคาถานี้ในทางภาคเหนือเรียกกันว่า พระคาถาไก่แก้วกุกลูก และหลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับคาถาไก่เถื่อนนั้นมาในชั้นหลังของสมเด็จพระสังฆราชสุก เสียส่วนมาก”

เมื่อหลวงปู่สุกออกป่า และได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ในป่าเขา ท่านก็ได้รอดพ้นมาด้วยพระคาถาไก่เถื่อนนี้ คนในสมัยนั้นเรียกพระคาถานี้ว่า เป็นพระคาถาที่เกิดจากอกหลวงปู่สุก หมายถึง เกิดจากการปฏิบัติธรรม ยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการใช้ และสรรพคุณ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนพระธรรมดังนี้
๑. พระคาถาไก่เถื่อนนี้ผู้ใดภาวนาได้ 3 เดือน ทุกๆวันอย่าได้ขาด ผู้นั้นจะมีปัญญาดังพระพุทธโฆษาจารย์
๒. แม้สวดเทศนาร้องหรือพูดจาสิ่งใดให้สวดเสีย สามที่ มีตบะเดชะนัก
๓. แม้สวดได้ถึงเจ็ดเดือนอาจสามารถรู้ใจคน
๔. ถ้าสวดได้ครบ 1 ปี มีตบะเดชะนัก ทรงธรรมรู้ยิ่งกว่าคนทั้งหลาย
๕. แม้จะเดินทางไกลให้สวด 8 ทีเป็นสวัสดีแก่คนทั้งหลาย
๖. ให้เสกหินเสกแร่ไว้สี่มุมเรือน โจรผู้ร้ายเข้าปล้นสะดมมิได้ ผีร้ายมิกล้าเข้ามาในเขตบ้าน คร้ามกลัวยิ่งนัก คนเดินไปถูกเข้าก็ล้มลงแล แพ้อำนาจแก่เรา
๗.ให้เขียนอักขระนี้ลงเป็นยันต์ประสาท ลงด้วยเงินก็ดี ทองก็ดี เอาพระคาถานี้เสก 3 คาบไปเทศนาดีนักเป็นเมตตาแก่คนทั้งหลายให้เขียนยันต์ประสาทนี้ไว้กันเรือน กันโจรภัย อันตรายทั้งหลาย
๘. เสกปูน ใส่บาดแผลและฝีดีนัก
๙. เสกน้ำมันงาใส่กระดูกหัก
๑๐. เสกเมล็ดข้าวปลูกงอกงามดีนัก
๑๑. เสกน้ำมนต์พรมของกำนัลไปให้ขุนนางท้าวพระยา รักเราแล
๑๒. เสกหมาก เมี่ยงทางเมตตา
๑๓. ต้องยาแฝด ต้องภัยอันตรายต่างๆก็ดี ให้เสกส้มป่อยหายสิ้นแล
๑๔. พระคาถานี้ผู้ใดทรงไว้มีปัญญามาก

แต่ละยุคการศึกษาพระกรรมฐานมัชฌิมา เป็นแบบเดียวกัน เป็นทางเดียวกัน จน กระทั้งถึงบัดนี้ โดยมีพระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายพระกรรมฐานมัชฌิมาสืบทอดมาโดยไม่ขาดสาย ไม่ขาดระยะมาถึง 12 รุ่น บางยุคก็เจริญ บางยุคก็เสื่อมลงบ้าง เป็นไปตามหลักของพระไตรลักษณ์ พระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ของกรุงรัตนโกสินทร์นี้นำสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา สู่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยการนำมาประดิษฐานของสมเด็จพระสังฆราช ไก่เถื่อน วัดราชสิทธาราม(พลับ) ซึ่ง ต่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ในปีพระพุทธศักราช 2364 ทรงมีพระราชดำริว่า พระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ของเก่าดั่งเดิม กำลังจะแตกกระจาย ไปเป็นสายต่างๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการศึกษาพระกรรมฐานภาคปฏิบัติจะไม่เป็นระเบียบแบบแผน เป็นลำดับเหมือนแต่ก่อน ว่าพระกรรมฐานไหน ควรเรียนก่อน กรรมฐานไหน ควรเรียนหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาล ที่ ๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการชุมนุมพระอริยสงฆ์สมถะ-วิปัสสนา ทั้งนอกกรุงในกรุง ทำการสังคายนาพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ เพื่อรักษาพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ มิให้แตกกระจาย สูญหาย ทำให้เป็นปึกแผ่นเหมือนดังแต่ก่อน สังคายนาโดยพระอริยสงฆ์ผู้สืบทอดพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับโดยมีสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุกไก่เถื่อน) เป็นองค์ประธานสังคายนาฝ่ายสงฆ์ เมื่อสังคายนาเสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระสงฆ์ ปะขาว ชีไปเป็นพระอาจารย์ บอกพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
ตามพระอารามต่างๆ พระกรรมฐานมัชฌิมา จึงได้สืบทอดมาจนทุกวันนี้พระกรรมฐานนั้นมี 2 ภาค

1. พระกรรมฐานภาคปริยัติ คือเรียนรู้ได้ตามพระคัมภีร์ ได้แก่ พระคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระคัมภีร์มูลกรรมฐาน
2. พระกรรมฐานภาคปฏิบัติคือ พระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ สืบทอดมาโดยการประพฤติปฎิบัติ และทรงจำสืบๆต่อกันมา โดยไม่ขาดสาย เพื่อป้องกันอุปาทานและทางเดินของจิตเสีย

เมื่อเรียนภาคปฏิบัติจบตามขั้นตอนแล้ว จึงจะเรียนพระกรรมฐานภาคปริยัติ คือการอ่าน พระคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์มูลกรรมฐาน เพื่อนำความรู้ทางจิต ออกมาเป็นคำพูด เพื่อทำความเข้าใจ ได้อย่างถูกต้อง และอธิบายให้ได้ใจความ

การศึกษาพระปริยัติธรรม ของพระอาจารย์สุกในครั้งนั้น กลางวันพระอาจารย์สุก ท่านศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พระคัมภีร์บาลีมูลกัจจายน์ กลางคืนท่านเจริญจิตภาวนา พระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
ฉันภัตตาหารเช้าแล้วทุกวัน พระอาจารย์สุก เข้าแจ้งสอบอารมณ์พระกรรมฐานกับท่านพระครูรักขิตญาณ (สี) ถ้าแจ้งพระกรรมฐานหรือ สอบอารมณ์ผ่าน พระอาจารย์จะให้พระองค์ท่านอาราธนาพระกรรมฐานองค์ที่สอง ต่อไปคือ คือพระลักษณะขณิกาปีติ จนจบขั้นตอนของพระปีติทั้งห้า อันเป็นต้น เป็นราก เป็นเค้า เป็นมูล ของสมาธิ พระองค์ท่าน ทรงศึกษาเบื้องต้นของพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับจนจบ ภายในพรรษานั้น พระองค์ท่าน ทรงปฏิบัติได้ พระปีติทั้ง ห้าประการ เข้าสะกดหนึ่งห้อง พระยุคลธรรมทั้ง หกประการ เข้าสะกดหนึ่งห้อง พระสุขสมาธิ สองประการ เข้าสะกดหนึ่งห้อง แต่ละห้องพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับต้อง เข้าสับ พระปีติทั้งห้ายุคลทั้งหก สุขสมาธิทั้งสอง เข้าคืบ พระปีติทั้งห้า พระยุคลทั้งหก สุขสมาธิทั้งสอง เข้าวัด ออกวัด คือเดินหน้า ถอยหลัง พระปีติทั้งห้า พระยุคลทั้งหก พระสุขสมาธิทั้งสองแล้วเข้าลูกสะกด พระปีติทั้ง ห้า พระยุคลทั้งหก พระสุขสมาธิทั้งสอง เป็นอันจบสามห้องนี้ เป็นเบื้องต้นของพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ

การเดินทาง สำนักจิตภาวนาสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) อยุธยา

Comments

comments