กราบไหว้ขอโชคลาภขอพรจากหลวงพ่อใหญ่
ณ วิหารหลวงพ่อใหญ่


วัดร้างแห่งหนึ่งในบางกอก วัดพิกุลใน สถานีรถไฟบางบำหรุ

ที่ตั้งวิหารหลวงพ่อใหญ่
เลขที่ 3 ซอยสิรินธร9 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

ประวัติวิหารหลวงพ่อใหญ่ วัดพิกุลใน
จากที่เคยเป็นวัดอยู่ในสวนลึกห่างไกลความเจริญจนไม่คิดว่าจะมีผลกระทบใดๆ จนการพัฒนากลับเข้ามาทำให้วัดนี้หมดสภาพไป เพราะทางรถไฟได้พาดแนวผ่านกลางวัด ผ่านไปเกือบร้อยปีทางรถไฟสายเดิมยังพาเอาเคราะห์กรรมมาสู่วัดร้างเล็กๆ จนต้องโยกย้ายหนีการพัฒนาอีกครั้ง

ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับเก่าๆแล้ว ยังระบุว่ามีวัดที่อยู่ลึกเข้ามาภายในคลองเส้นนี้ จึงเรียกว่า “วัดพิกุลใน” ทุกวันนี้วัดพิกุลในไม่ปรากฏในทำเนียบวัดใดๆ แล้ว แสดงว่าทิ้งร้างหรือกลายสภาพเป็นอาคารอย่างอื่นที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาไปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่ใหม่ๆ วัดพิกุลในอยู่ตรงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับบางกรวยตรงใกล้รถไฟสายใต้พอดี
โดยวัดพิกุลในชาวบ้านเรียกให้คล้องจองกันกับวัดพิกุลนอกที่อยู่บริเวณคลองเดียวกัน ในแผนที่กรุงเทพฯ ปี 2453 ยังบันทึกที่ตั้งของวัดพิกุลในในฐานะที่ยังไม่ทิ้งร้าง และตั้งอยู่ทางฝั่งทิศเหนือของคลองวัดพิกุลโดยมีทางรถไฟสายบางบัวทองตัดผ่านด้านข้างวัดทางทิศตะวันตก เชื่อกันว่าแผนที่กรุงเทพฯ ในปี 2474 วัดพิกุลในนั้นมีแนวซ้อนทับกับทางรถไฟพอดี คงจะถูกถอนวิสุงคามสีมายกเลิกความเป็นวัดจนกลายสภาพเป็นวัดร้างไป

หลักฐานสำคัญของวัดพิกุลในศิลปกรรมกับความศักดิ์สิทธิ์
หลังจากทางรถไฟมาถึงในคราวนั้น เชื่อว่าอาคารถาวรวัตถุของวัดพิกุลในคงถูกรื้อถอนทำลายจนหมด เว้นแต่หมู่พระพุทธรูปภายในอุโบสถเก่า ได้ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายมาอยู่ทางฝั่งทิศใต้ของทางรถไฟไม่ไกลจากสถานีบางบำหรุมากนัก และคงมีการสร้างหลังคาคลุมไว้พอเป็นพิธี

จากการค้นหาวัดพิกุลใน เอกสาร แผนที่ พร้อมทั้งสำรวจในปี 2547 พบอาคารขนาดย่อมที่ตั้งประจันหน้ากับสามแยกถนนรุ่งประชา (สายบางกรวย-ไทรน้อย) ตรงทางแยกเข้าสถานีรถไฟบางบำหรุ ขนาบข้างด้วยทางรถไฟทางทิศเหนือ ตัวอาคารเป็นอาคารโถงก่อซีเมนต์ มีลูกกรงเหล็กล้อม ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมากพร้อมด้วย “หลวงพ่อใหญ่”

องค์พระพุทธรูปถูกทาสีทองทับจนหมดแล้ว แต่ยังแลเห็นเค้าของพุทธลักษณะชัดเจนเกือบทุกองค์ โดยเฉพาะหลวงพ่อใหญ่อันเป็นประธาน คือพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย พระพักตร์รูปออกรี พระหนุเหลี่ยม เม็ดพระศกเล็กละเอียด พระรัศมีเป็นเปลวแหลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์ค่อนข้างหนายิ้มที่มุมเล็กน้อย ครองจีวรห่มเฉียง รูปแบบนี้อาจเทียบได้ว่าเป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ที่เรียกว่า “อู่ทองรุ่น 3”
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในวิหารคือ ใบเสมาที่วางซุกไว้ด้านหลังชุกชีจำนวน 1 ใบ เป็นใบเสมาขนาดเล็ก สังเกตไม่ได้ว่าสลักขึ้นจากหินชนิดใด เพราะถูกทาสีทองทับจนหมดแล้ว อาจเป็นใบเสมาสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงช่วงแรกของรัตนโกสินทร์ ยืนยันได้ว่าอาคารเก่าของวัดพิกุลในน่าจะมีส่วนที่เป็นอุโบสถมาก่อน แต่ก็คงจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา

กิจกรรมที่ต้องห้ามพลาด
กราบไหว้ขอโชคลาภขอพรจากหลวงพ่อใหญ่

การเดินทางไปวิหารหลวงพ่อใหญ่

Comments

comments