วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) พระอารามหลวง ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง อุทัยธานี

Wat Mani Sathit Kapittharam (Wat Thung Kaew), Uthai Mai Subdistrict, Mueang District, Uthai Thani

“สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในพระปรางค์ใหญ่ห้ายอด ไหว้พระประธานในพระอุโบสถ”

ที่ตั้งวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว)

  • ที่ตั้ง : ถนนสุนทรสถิตย์ ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
  • วันที่ตั้งวัด : พ.ศ.2431
  • วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2434
  • พระอารามหลวง : ชั้นตรี ชนิดสามัญ

ประวัติวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว)
วัดมณีสถิตกปิฎฐาราม เดิมชื่อ วัดมณีธุดงค์สงฆ์มูลิกาวาส เริ่มก่อสร้างราวพุทธศักราช 2431 ตั้งอยู่ถนนมณีสถิตย์ ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ที่ดินโฉนดเลขที่ 4102 และ 4344 มีเนื้อที่รวม 50 ไร่ 1 งาน 42.2 ตารางวา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช 2434

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสกลมหาสังฆปรินายกสมเด็จพระสังฆราช เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ ได้เสด็จมาที่เมืองอุทัยธานี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2456 เสด็จมาทอดพระเนตรวัดมณีธุดงค์สงฆ์มูลิกาวาสทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดทุ่งแก้ว ” ตามที่ประชาชนนิยมเรียกกัน (ที่ตั้งวัดเป็นป่าไผ่ ด้านตะวันออกของป่าไผ่มีทุ่งใหญ่ ประชาชนเรียกบริเวณนี้ว่า “ทุ่งแก้ว” ชื่อนี้จึงติดปากนำไปเรียกชื่อวัดด้วย)

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2478 เกิดเพลิงไหม้ตลาดสะแกกรังครั้งใหญ่ เพลิงไหม้ตลาด บ้านเรือน บริเวณทิศใต้และทิศตะวันตกของวัดขวิด ส่วนสิ่งก่อสร้างของวัดขวิดไม่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่ทางราชการมีความจำเป็นต้องจัดผังเมืองใหม่เพื่อสร้างตลาดและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีการตัดถนนผ่านที่ดินของวัดขวิดถึง ๓ ด้าน คือถนนศรีอุทัย ถนนมหาราช และถนนสะแกกรัง จึงให้รวมวัดขวิดเข้ากับวัดทุ่งแก้ว และสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) เจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์ ได้เปลี่ยนนามวัดทุ่งแก้วเป็น “ วัดมณีสถิตกปิฎฐาราม ” เมื่อ พ.ศ.2481 (มณี แปลว่า แก้ว หมายถึงทุ่งแก้ว กปิฎ แปลว่า มะขวิดหมายถึงวัดขวิด)

สมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) ได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติของท่านว่า “ วัดนี้เดิมชื่อวัดทุ่งแก้ว เป็นวัดสร้างใหม่ ในระหว่างป่ากับบ้านนี้ มีทุ่งใหญ่เขาเรียกว่าทุ่งแก้ว พระธุดงค์มักมาพักในป่านี้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อ พระอาจารย์แย้มอยู่วัดโมลีโลก(วัดท้ายตลาด) กรุงเทพฯ เป็นผู้มั่นคงในทางภาวนา พอใจในการธุดงค์จำเพาะองค์เดียว บางครั้งมีคนแก่เป็นศิษย์ไปด้วยคนหนึ่ง ท่านจาริกมาพักในป่านี้ชาวสะแกกรังนิยมนับถือ เรียนภาวนาต่อท่านเป็นอันมาก นายพุ่ม นางพิณ พงษ์นุ่มกุล ได้สร้างศาลาขนาดเล็ก พื้นไม้กระดาน หลังคามุงกระเบื้องหลังหนึ่ง สำหรับเป็นที่พักผ่อนแห่งท่านจากนั้นท่านจาริกมาพักที่ศาลานี้เสมอ

วัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ มีความน่าสนใจจากพระปรางค์ใหญ่องค์หนึ่งที่ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณวัด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2452 โดยมีฐานกว้าง 8 เมตร สูง 16 เมตร ลักษณะเป็นปรางค์ห้ายอด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแย้มผู้สร้างวัดนี้

นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีสระน้ำก่ออิฐเป็นสระน้ำมนต์ขนาดใหญ่ กลางสระมีแผ่นศิลาลงอักขระยันต์ของหลวงพ่อแย้ม กล่าวกันว่า เคยมีการใช้น้ำในสระแห่งนี้ เป็นน้ำสรงพุทธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

พระประธานในพระอุโบสถ
พระอุโบสถ

ภาพบรรยากาศวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว)


การเดินทางไปวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว)

Comments

comments