วัดกู้ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
Wat Ku, Bang Phut Subdistrict, Pak Kret District, Nonthaburi Province
“ขอพรกับหลวงพ่อสมปรารถนา หลวงพ่อสำเร็จ สักการะบูชาหลวงพ่อสมหวัง(พระนอนวัดกู้), ชมอนุสรณ์สถานของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)”
วัดกู้ หรือวัดพระนางเรือล่ม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ที่ตั้งวัด เลขที่ 57 หมู่ 5 ซอยสุขาประชาสรรค์ 2 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 เบอร์โทรติดต่อ 02-9633866, 086-533-9171 www.watkoo.net
ประวัติวัด วัดกู้ เป็นวัดเก่าแก่โบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณปี พ.ศ. 2295 ที่ตำบลบางพูด เล่ากันว่าผู้สร้างคือ พญาเจ่ง ชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
โบราณสถานของวัดกู้ จึงมีศิลปะแบบมอญผสมผสาน อาทิ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ พระพุทธรูป เจดีย์ทรงมอญ

วัดกู้ เดิมมีชื่อว่า “วัดท่าสอน” หรือ “วัดหลังสวน” เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ขบวนเรือพระพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดอุบัติเหตุล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในขณะนั้นทรงตั้งพระครรภ์เจ้าฟ้าได้ 5 เดือนแล้ว ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอิน ขณะแล่นมาถึงตำบลบางพูด เป็นเหตุให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์สิ้นพระชนม์ รวมทั้งพระพี่เลี้ยงแก้วถึงแก่กรรม เล่ากันมาว่าได้เชิญพระศพขึ้นที่วัดกู้นี้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะอัญเชิญพระศพสู่พระบรมมหาราชวังต่อไป

ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดกู้” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า “พระนางเรือล่ม” มานับแต่นั้นเป็นต้นมา
ภายใน วัดกู้ มีวิหารประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ หรือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (หลวงพ่อสมหวัง)
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (หลวงพ่อสมหวัง) กว้าง 4 เมตร ยาว 37 เมตร อายุหลายร้อยปี ประดิษฐานอยู่ที่วิหารแบบเปิดโล่งบริเวณทางเข้าวัด ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับวัด

พระอุโบสถเก่าของวัดกู้ จัดเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในวันที่ 13 มกราคม 2541 อุโบสถเก่า เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานอุโบสถแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภาแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย เพดานภายในเขียนเป็นลายดอกไม้ มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มอญ แต่ปัจจุบันชำรุดและเลอะเลือนมาก
พระประธาน “หลวงพ่อสมปรารถนา” สักการะบูชาขอพร โดยตั้ง นะโม 3 จบ แล้วต่อด้วย “พุทธะบูชา มหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มหาปัญโญ สังฆะบูชา มหาโภคะวะโห สะทา โสตถี ภะวันตุโน” แล้วขอพร
วิหารใหม่ของวัดกู้ “หลวงพ่อสำเร็จ” เป็นพระประธาน ขอพรได้ 1 อย่าง โดยว่าคาถา ตั้ง นะโม 3 จบ ต่อด้วย พุธธังสำเร็จ ธัมมังสำเร็จ สังฆังสำเร็จ สะทาโสตถี ภะวันตุโน แล้วอธิษฐาน
วัดกู้ ยังเป็นที่รู้จักกันในเรื่องการทำบุญเพื่อไถ่ชีวิตโคกระบือ สามารถร่วมบริจาคทำบุญได้ทุกวัน โคกระบือตัวละ 25,000 บาท แต่หากสนใจร่วมบริจาคเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถไปยังบ้านของโคกระบือได้จะมีกล่องรับบริจาคอยู่ และสามารถให้อาหารโคกระบือได้

ภายในบริเวณวัดกู้ ยังมี ศาลของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ที่ชาวบ้านร่วมใจตั้งศาลขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า สถานที่นี้ได้กู้พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ขึ้นมา

และด้านหลังวัด มีพระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจำลองแบบจาก ศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งเป็นที่ซึ่งทรงโปรดปรานมาก ภายในพระตำหนักจำลองนี้ มีรูปปั้นของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สักการะกราบไหว้บูชาอีกด้วย
บรรยากาศหลังพระตำหนักอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ และมีกิจกรรม ให้อาหารปลา ให้อาหารนก ปล่อยปลา ชมวิว อีกด้วยค่ะ
ชมภาพบรรยากาศทั่วไปในบริเวณวัดกู้ – Wat Koo Photo Gallery
∇
การเดินทาง (แผนที่) วัดกู้ ปากเกร็ด นนทบุรี
โดยรถยนต์ จากถนนวิภาวดีเลี้ยวซ้ายเข้าถนนแจ้งวัฒนะ วิ่งตรงยาวมีอีก 10 กิโลเมตร จนสุดทางที่ท่าน้ำปากเกร็ดแล้วกลับรถง จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปในซอย สุขาประชาสรรค์ 2 วิ่งตรงมาอีก 2.5 กิโลเมตร วัดกู้อยู่ทางซ้ายมือ
โดยรถประจำทาง รถเมล์สาย 32,52,150,166,356,505 ลงไปกลับรถที่ท่าน้ำปากเกร็ด บริเวณวัดบ่อ(ใต้สะพานพระรามสี่) เดินข้ามมาอีกฝั่งจะมีซอยสุขาประชาสรรค์ 2 บริเวณปากซอยสองแถวหรือมอเตอร์ไซด์วิ่งเข้าไปผ่านวัดกู้
⊗